ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ป่าไม้โต้เผาป่าเพิ่มงบฯ เร่งปรับแผนแก้ปัญหาระยะยาว

สิ่งแวดล้อม
4 เม.ย. 62
15:00
2,082
Logo Thai PBS
ป่าไม้โต้เผาป่าเพิ่มงบฯ เร่งปรับแผนแก้ปัญหาระยะยาว
สถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือรุนแรงกว่าปีที่แล้วถึง 2 เท่า อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งเร่งดับไฟป่าภายใน 7 วัน ขู่คนจุดไฟถูกตัดสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินทำกิน คทช. ย้ำเจ้าหน้าที่ทำงานเหนื่อย ไม่มีทางจุดไฟของบฯ เพิ่ม

ไทยพีบีเอสออนไลน์พูดคุยกับนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ถึงสถานการณ์ไฟไหม้ป่าในภาคเหนือ การปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการแก้ปัญหาในระยะยาว และการใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหา

 

ถาม : อะไรเป็นสาเหตุไฟไหม้ป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ

พบว่าสาเหตุหลักคือ การเข้าไปเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ จุดไฟเผาพื้นที่ป่าเพื่อให้เดินได้สะดวก การเผาพื้นที่ไร่และลุกลามเข้าไปในเขตป่า รวมทั้งการแกล้งจุดไฟของกลุ่มบุคคล โดยพบจากหลักฐานวัสดุการตั้งเวลา หรือหน่วงเวลาให้เกิดไฟ และคบไฟ รวมทั้งการลักลอบตัดไม้ แสวงหาผลประโยชน์ในป่า

 

อรรถพล เจริญชันษา

อรรถพล เจริญชันษา

อรรถพล เจริญชันษา

 

ผู้ที่ลักลอบเข้าไปจุดไฟ ไม่ได้เชื่อฟังกติกา โดยเฉพาะในช่วงเวลาห้ามเผา เจ้าหน้าที่จึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จัดชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาไฟป่าในระดับตำบล โดยเป็นความร่วมมือกับกำลังทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. โดยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 23 อำเภอ มีทั้งหมด 81 ชุด ทำหน้าที่พูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนว่าอย่าจุดไฟเผาป่า และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

แล้งยังไงมันคงไม่เกิดไฟถ้าคนไม่จุด จะทำอย่างไรให้คนเคารพกติกา 

ถาม : ถูกตั้งคำถามเจ้าหน้าที่จุดไฟเผาเอง

ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะกรมป่าไม้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเท่ากันในแต่ละปี อยู่ที่ 165 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ด้วย ถือเป็นงบประมาณที่น้อยมาก กับการดูแลรับผิดชอบทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องขายวิชาชีพไปเผาป่าให้ตัวเองเหนื่อย ขณะนี้ได้ประสานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามาร่วมช่วยเหลือด้านงบประมาณดับไฟป่า

หลายคนบอกว่าเจ้าหน้าที่เผาเอง ผมว่าเป็นการบั่นทอนกำลังใจของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดภาพลบต่อประชาชน ไม่อยากให้คิดแบบนี้

ถาม : ความยากลำบากของการดับไฟป่า

อุปกรณ์ดับไฟป่าไม่มีปัญหา มีเอกชน ภาคีภาคประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนทั้งอุปกรณ์ดับไฟป่า หน้ากากกันฝุ่น เสบียง แต่ที่ต้องการคือ คนที่ต้องสับเปลี่ยนกันปฏิบัติงาน ขณะนี้มีชุดเหยี่ยวไฟ ของกรมป่าไม้ 500 คน และชุดเสือไฟของกรมอุทยานฯ อีก 1,500 คน ระดมเข้ามาเสริมดับไฟในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากการดับไฟเจ้าหน้าที่ต้องเข้าอยู่ในป่า 7 วัน และเฝ้าระวังจนกว่าไฟจะดับ เพื่อไม่ให้เกิดความล้าจากการทำงานจนเกินไป

ปกติเจ้าหน้าที่ไฟป่าต้องนอนในป่า ต้องอยู่ในป่าจนกว่าสถานการณ์จะปกติ คุมไฟไม่ให้ปะทุขึ้นมาอีก

 

อธิบดีกรมป่าไม้ ยอมรับว่า ภารกิจดับไฟป่ามีความยากลำบากมาก สมัยที่เคยอยู่ที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และไปสมทบกับภารกิจดับไฟใหญ่ที่ป่าห้วยตึงเฒ่า จ.เชียงใหม่ ต้องใช้เวลาเดินขึ้นเขาครึ่งวัน ซึ่งผู้ที่ทำงานดับไฟป่าต้องแข็งแรง เคยชินกับการเดินเขา เจ้าหน้าที่ดับไฟของกรมป่าไม้ในหลายหน่วยเป็นชาวเขา ที่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่และมีความแข็งแรงมาก รวมทั้งเข้าใจรูปแบบของไฟป่า เนื่องจากผู้ที่มีประสบการณ์มากจะมีความรู้เรื่องลักษณะภูมิประเทศเป็นอย่างดี ทราบว่าต้องใช้วิธีใดดับไฟ และทำอย่างไรไม่ให้ไฟข้ามแนวกันไฟ หากไฟดับแล้วยังต้องตามไปเก็บแนวดำ ไม่ให้เชื้อไฟหลงเหลืออยู่ ฉะนั้นคงไม่มีใครไปจุดเพื่อหางบประมาณ ใครจะทำให้ตัวเองต้องเหนื่อยและเสี่ยงชีวิต

 

ถาม : ทำไมสถานการณ์ไฟป่าปีนี้รุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการเหมือนทุกปี ทั้งต้องจัดระเบียบการเผา และแก้ปัญหาเรื่องของปริมาณเชื้อเพลิง ช่วงการห้ามเผา และหลังการห้ามเผา แต่ปีนี้ประชาชนไม่เคารพกติกาโดยเฉพาะช่วงเวลาห้ามเผา เมื่อเผาแล้วพบว่า มีปัจจัยหลายอย่างมาประกอบให้สถานการณ์รุนแรง เช่น ปริมาณเชื้อเพลิงที่สะสมมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ความแห้งแล้งของเชื้อเพลิง สภาวะที่ทำให้หมอกควันไม่ลอย หรืออากาศปิด จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาและลาว ทำให้เกิดความหนาแน่นของหมอกควัน ที่สำคัญคือการลักลอบจุดไฟ

ปีนี้พบจุดความร้อนทั่วประเทศ อยู่ที่ 26,300 จุด สร้างความเสียหายถึง 2 เท่าจากปีแล้วที่พบ 20,000 จุด แต่ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่ป่าจะเสียหายทั้งหมด เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ซึ่งเกิดความเสียหายกับไม้ในระดับล่าง ไม่กระทบโครงสร้างป่า และเมื่อถึงหน้าฝนป่าก็จะฟื้นตัวขึ้น

 

ถาม : มาตรการป้องกันการเผาป่าเพิ่มขึ้น

กรมป่าไม้ สั่งการให้หน่วยป้องกันพัฒนาป่าไม้ (คทช.อำเภอ) ประสานนายอำเภอและผู้นำท้องถิ่น เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินทำกินตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้พิจารณาหลักเกณฑ์ของผู้ที่ได้รับสิทธิ หากพบว่ามีพฤติกรรมบุกรุกป่า เผาป่า ล่าสัตว์ หรือมีจุดความร้อนเกิดขึ้นในที่ดินของตนเอง จะตัดสิทธิที่ดินทำกินตาม คทช. (อ่านข่าว "กรมป่าไม้" เล็งแบล็กลิสต์ 20 หมู่บ้าน 9 จว.เหนือจุดไฟป่า) โดยเมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) ชุดปฏิบัติการระดับตำบล พบการล้อมรั้วในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยล้อมรั้วในพื้นที่ป่าธรรมชาติ 30 ไร่ และมีการเผาป่าจนเกิดความเสียหาย จึงประสานพนักงานสอบสวนดำเนินคดีและติดตามตัวผู้กระทำความผิด พร้อมขยายผลพื้นที่ข้างเคียงว่ามีส่วนรู้เห็น หรือทำให้เกิดไฟป่าหรือไม่ โดยจะขยายผลทั้งอำเภอเพื่อพิจารณาตัดสิทธิที่ดินทำกิน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ที่เข้าไปล่าสัตว์และทำให้เกิดไฟป่า อ.แม่แจ่ม โดยประสานตรวจสอบว่ามีที่ดินทำกินอยู่ในเกณฑ์ คทช.หรือไม่ เพื่อดำเนินการตัดสิทธิที่ดินทำกิน

 

ถาม : การบังคับใช้กฎหมายแก้ปัญหาเผาป่า

มาตรการแก้ปัญหาไฟไหม้ป่า ในระยะสั้นต้องดับไฟให้ได้ก่อน โดยสนธิกำลังทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทัพที่สนับสนุนกำลังพล เสบียง เฮลิคอปเตอร์ใช้ทิ้งน้ำดับไฟ ส่วนระยะต่อไปต้องไม่เกิดไฟไหม้เพิ่มเติม และการแก้ปัญหาระยะยาว ต้องศึกษาว่าในปีต่อไปจะกำหนดมาตรการควบคุมไฟป่าแต่ละห้วงเวลาอย่างไร จำเป็นต้องกำจัดเชื้อเพลิงในบางพื้นที่หรือไม่ ช่วงห้ามจุดไฟเผาป่า 60 วัน จะห้ามหรือจัดระเบียบอย่างไร หลังจากนั้นหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟเผาจริง ๆ ต้องศึกษาว่าจะจัดระเบียบและขึ้นทะเบียนการเผาอย่างไร

ที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งมีนโยบายอยู่แล้วภายใต้แนวทางตามมติ ครม. วันที่ 26 พ.ย.2561 และอยู่ระหว่างออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินทำกินในที่ดินของรัฐทุกประเภท ซึ่งรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินจะเปลี่ยนไป ไม่ให้ใช้ประโยชน์ในพืชเชิงเดี่ยว พร้อมกำหนดให้คนที่ได้รับสิทธิ คทช. ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชแบบผสมผสาน ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟในการเผา นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบใหม่ ส่วนเรื่องการปลูกข้าวโพดนั้น ทางเอกชนรายใหญ่ยืนยันว่าจะไม่รับซื้อในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย


พื้นที่ คทช. ต้องไม่มีการบุกรุกเพิ่ม ไม่จุดไฟเผาป่า ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีมากเกินไป และไม่ให้กระทบระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและความหลายทางชีวภาพ

ถาม : แนวทางลดหมอกควันข้ามแดน

การขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านในการป้องกันและแก้ปัญหานั้น ไทยมีข้อตกลงกับประเทศอาเซียนเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยหารือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาทุกปี แต่ปีต่อไปอาจต้องหารือเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือทางวิชาการและความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง