ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Insight : ว่าด้วยรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และก้าวข้ามความขัดแย้ง

การเมือง
9 เม.ย. 62
16:32
1,279
Logo Thai PBS
Insight : ว่าด้วยรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และก้าวข้ามความขัดแย้ง
กว่าจะถึงวันที่ 9 พ.ค. ที่ กกต. จะรับรองผล ส.ส. คำถามการตั้งรัฐบาลถูกทดสอบทั้งขั้วเพื่อไทย-พลังประชาชน แต่ไม่ว่าขั้วใดมีความเป็นไปได้น้อยที่จะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ แต่คำถามสำคัญกว่าคืออุดมกาณ์ที่ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว จะนำมาซึ่งความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่

ห้องทำงานชั้นแรกตึกรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจุดนัดหมายการเปิดบทสัมภาษณ์กับศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร เจ้าของห้องทำงาน

เก้าอี้สองตัวล้อมด้วยกองหนังสือ เหมาะมากที่จะใช้สนทนากับนักปรัชญาการเมือง ฉายา "โซกราติสคนสุดท้าย" ที่เน้นการสอนนิสิตผ่านการถาม-ตอบ

และวันนี้ไม่ต่างกัน

การเลือกตั้ง ปี 2549 อาจารย์ผมยาว "ฉีกบัตรเลือกตั้ง" ท่ามกลางสื่อมวลชนที่เป็นสักขีพยาน การแสดงอารยะขัดขืนต่อการเลือกตั้ง เป็นที่มาของการตั้งคำถามกับอาจารย์ไชยยันต์วันนี้ เมื่อมีประชาชนจำนวนไม่น้อยมีข้อข้องใจเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง

"ช่วงปี 2549 ผมฉีกบัตรเพราะไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ครั้งนี้คนเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่สงสัยผลการเลือกตั้ง" คำตอบของอาจารย์ไชยยันต์ต่อปรากฏการณ์หลังการเลือกตั้ง

แต่เราจะข้ามหัวข้อเปิดการสนทนาไปก่อน ก่อนที่จะได้เห็นอนาคตหลังการเลือกตั้งทั้งทางออกและทางรอดของประเทศไทย

1.
ซ้ายก็รา-ขวาก็แรง

คำถาม คนเทคะแนนไป 2 ขั้ว ช่องว่างกว้างขึ้น ความคิดคน 2 ขั้ว จะกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่ ?

"ใช่ครับ" อาจารย์ไชยยันต์ อธิบายเพิ่มเติมถึงบทวิเคราะห์ที่คำนวณไว้ก่อนการเลือกตั้ง 3 สูตร คือ ข้อแรก หากประชาชนเทคะแนนเสียงไปยังพรรคการเมืองทั้งเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ แสดงว่าประชาชนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่ากับเห็นว่าการเมืองไทยคลี่คลายแล้ว

สูตรหนึ่งแปลว่า การเมืองไทยไม่อยู่ในสภาวะวิกฤตรุนแรงที่ต้องมีผู้ดูแลหรือผู้พิทักษ์อย่างพลเอกประยุทธ์

ข้อสอง ประชาชนยังไม่พร้อมให้นักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ จึงเทคะแนนไปยังพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงเทไปฝั่งพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ด้วย สูตรนี้เดาทิศทางการเมืองไม่ยาก

แต่ที่ยากสุด คือ ข้อสาม เป็นสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่คือคะแนนเทไปทั้ง 2 ขั้ว แต่ละขั้วคะแนน "ปริ่มน้ำ" เป็นขั้วขัดแย้ง

ดังนั้นคำถามที่ว่าจะเข้าสู่ความขัดแย้งไหม แน่นอนมันชัดเจนว่า ประชาชนแบ่งเป็น 2 ฟาก ยังมีเรื่องอุดมการณ์และความเคลื่อนไหวต่อสถาบันสูงสุด เข้าอิหรอบเดิม

ต่อ 2 ขั้วการเมือง อาจารย์ไชยันต์ เชื่อว่าประชาธิปัตย์คิดถูกที่ถอดตัวเองออกจากขั้วขัดแย้ง จากเดิมที่ประชาธิปัตย์เป็นคู่ขัดแย้งกับขั้วนายทักษิณ ชินวัตร กว่า 10 ปี แต่ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งในเกมนี้แทน ดังนั้นความขัดแย้ง 2 ขั้ว ยังเป็นตัวละครเดิม แต่เปลี่ยนคู่ขัดแย้งเป็นนายทักษิณและ พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนสิ่งที่น่าวิตกในมุมมองของอาจารย์ไชยยันต์ คือ "ตัวละครเดิมๆ ยังไม่หายไป คุณทักษิณยังส่งสัญญาณ ตรงนี้น่าวิตก"

เราชวนอาจารย์ไชยันต์คุยต่อถึง scenario การเมือง เมื่อเห็นภาพความขัดแย้งชัดเจน จะตัดไฟแต่ต้นลมอย่างไร ?

แน่นอน! คำตอบบางส่วนไม่สามารถเปิดเผยผ่านหน้ากระดาษ แต่บางส่วนคงต้องนำเสนอแบบคำต่อคำ

"เรื่องที่เป็นประเด็นขณะนี้ ผู้นำกองทัพออกมา ประชาชนไปฟ้องร้องนักการเมืองพรรคอนาคตใหม่ คือไม่ได้บอกว่า ห้ามทำสิ่งเหล่านี้ ก็ให้ทำไปตามกระบวนการ และตั้งสติให้ดีว่า ที่เขาบอกว่าคุณปิยบุตร พูดมาในอดีต มันเป็นเรื่องล้มสถาบันจริงหรือเปล่า"

"ความโกรธ เกลียด ชัง ความรักมันมีได้ แต่ต้องคิดให้ดีๆ ว่าสิ่งที่จะเสียหายก็คือตัวสถาบัน สิ่งที่จะเสียหายคือประเทศชาติ เพราะว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นน่าจะเป็นประเด็นหลักสำคัญอันหนึ่ง"

อาจารย์ไชยันต์กล่าวว่า การรักษาเอกภาพของความเป็นชาติ จะเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่เกิดความขัดแย้งหรือความเสียหายมากนัก

ซึ่ง "เอกภาพ" ในที่นี้ แต่ละประเทศมีสิ่งยึดถือแตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกายึดถือในรัฐธรรมนูญ ขณะที่ของไทย แน่นอน! คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการปกป้องมากเกินไป หรือการวิพากษ์วิจารณ์ในทางอ้อมมากเกินไป เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง

เพราะฉะนั้นผู้นำกองทัพเองเป็นสปอร์ตไลต์ที่ฉายไปก็ต้องเข้าใจเงื่อนไขนี้

ผู้เขียนขมวดความคิดอาจาย์ไชยันต์โดยสังเขป ต่อการวิเคราะห์ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา สรุปแล้วแต่ละสังคมมีฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวาต่างกัน

ส่วนสถานการณ์ของไทย ฝ่ายซ้าย คือฝ่ายที่ต้องการเสรีภาพมากขึ้น ความเป็นอิสระ ลดทอนอำนาจสถาบัน-องค์กร หรือสิ่งที่อำนาจเชิงวัฒนธรรมครอบงำอยู่ ฯลฯ ส่วนฝ่ายขวา ผู้กุมอำนาจ เช่น กองทัพ หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม ฯลฯ

การศึกษาจากงานวิชาการ เมื่อฝ่ายซ้ายมีกระแสแรงย่อมมีปฏิกิริยาจากฝ่ายขวา และมีการปะทะกัน

ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่ายต้องคำนึงถึงประโยชน์ ไม่ใช่การเอาชนะกันเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า

อนาคตใหม่เองก็ดี ถ้าคิดว่าอนาคตคือการเข้าสภา เขียนนโยบายเป็นรูปธรรม ไอ้การออกมาตอบโต้ท้าทายตรงนี้จำเป็นไหม ตัวเองไม่ยี่หระ สิ่งที่ตัวเองยึดมั่นถูกเสมอแบบนี้จำเป็นรึเปล่า หรือผลประโยชน์คุณคือแตกหักตรงนี้ ฝ่ายขวาที่เป็นทหารหรืออนุรักษ์นิยมก็ต้องคิดเหมือนกัน

ทีนี้ วิเคราะห์กันต่อว่า การเมืองจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรในสภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งรอบใหม่

1. ตัวของคู่ขัดแย้ง ไม่ว่าซ้าย-ขวา ข้างต้นต้องรู้ตัวเอง

2. ชนชั้นนำ นักการเมือง กลุ่มธุรกิจ ต้องช่วยเตือนสติคู่ขัดแย้ง ซึ่งมุมมองของอาจารย์ไชยันต์ คิดว่าแม้แต่เพื่อไทยก็ควรเป็นตัวเสียดทานในสมการนี้ เมื่อเห็นการเมืองแรงเกินไป ไม่ใช่การโหมไฟเข้าใส่ แต่ต้องเตือนความรุนแรงนี้ เพราะรุนแรงเกินไปที่จะทำงานในสภา "เป็นตัวเสียดทาน 2 ฝ่าย กองทัพ-อนาคตใหม่"

3.สื่อมวลชน แม้อาจารย์ไชยันต์จะยืนยันว่าเข้าใจการทำงานของสื่อ เช่นการพาดหัวที่น่าหยิบจับ เช่นคำว่า "ประกาศกร้าว" (ระบุ : หลังการประกาศกร้าวของผู้นำกองทัพต่อฝ่ายซ้าย) แต่สื่อมีส่วนลดทอนบรรยากาศความขัดแย้งได้

4. ประชาชน ย้ำว่ารักได้-เกลียดได้ แต่ต้องไม่รุนแรงจนเกินไป และต้องรู้-เข้าใจ ว่าการแตกหัก ณ จุดนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา

"รักได้-เกลียดได้ แต่อย่าแรง อย่าทำตัวเป็นบ่างช่างยุ" อาจารย์ไชยันต์กล่าว

ส่วนข้อที่ 5 ข้อสุดท้าย ท่านผู้อ่านคิดไตร่ตรองหรือลองส่งข้อความถามอาจารย์หลังไมค์ได้

ถ้าไม่ยอมตัดไฟแต่ต้นลม ด้วย 4 ข้อ (บวก1) นี้ อาจารย์ไชยันต์เชื่อว่าประเทศไทยหนีไม่พ้น 2 ทาง ทางแรกคือวิ่งเข้าสู่ความวุ่นวายสับสน หรือทางที่สอง หวนกลับสู่สังคมอำนาจนิยม

เพราะสุดท้ายฝ่ายอำนาจนิยม-ฝ่ายขวา ที่มีฐานลงรากในสังคมไทยย่อมตีกลับเมื่อมีคนมารื้อ-มาแซะฐานรากเหล่านั้น

...แล้ววนสู่ความขัดแย้ง

2.
ไม่มี "ทางตัน" ในเครื่องหมายคำพูด

การเมืองเรื่อง "จัดตั้งรัฐบาล" เป็นประเด็นที่ผู้คนสนใจที่สุดเวลา ทว่า 2 ขั้ว แกนหลักทั้งเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ต่างมีเสียงใกล้เคียงกัน ไม่ว่าใครจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็จะมีเสียงปริ่มน้ำ

ขอทบทวนเรื่องรัฐธรรนูญ ปี 2560 เป็นภาษาชาวบ้าน หลังการประกาศผลอย่างเป็นทางการ (95%) วันที่ 9 พ.ค. กำหนดให้มีการประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน วันนั้นต้องเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย)

แต่สิ่งสำคัญคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องจัดตั้งรัฐบาลภายในกี่วัน ? ต่างจากอดีตที่กำหนดชัดเจน ปัญหาคือแล้วประเทศไทยจะได้รัฐบาลชุดใหม่เมื่อใด และระหว่างนี้ รัฐบาล คสช. ยังมีอำนาจเต็มและบริหารประเทศตามปกติ

"เราคงต้องปล่อยเรื่องนี้ไปก่อน" คือคำตอบของอาจารย์ไชยันต์ ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนั้น ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่กำหนดให้ตั้งรัฐบาลภายใน 30 วัน นับแต่ประชุมรัฐสภาครั้งแรก

สาเหตุที่อาจารย์ไชยันต์ ไม่ตระหนกกับเงื่อนไขนี้ เพราะมีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ประเทศเบลเยียม การตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2010 (ปี 2553) ใช้เวลาเกือบ 600 วัน หรือเกือบ 2 ปี เพราะเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย-มีตัวแทนของประชาชนหลายกลุ่ม ผู้แทนราษฎรจึงเป็นเป็นผู้แทนฯ จากพรรคเล็กพรรคน้อย ลักษณะเหมือน "เบี้ยหัวแตก" ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลจึงใช้เวลาต่อรองนานนับปีๆ

แต่ก็อีกนั่นแหละ เบลเยียมต่างจากไทย ที่ไม่มีรัฐบาลคอร์รัปชัน ประชาชนมีความขัดแย้ง หรือมีการรัฐประหาร... ซึ่งประเด็นนี้อาจจะเป็นข้อกังวล ในความไม่กังวลของอาจารย์ไชยันต์

ว่ากันต่อเรื่องของเงื่อนเวลา ดังนั้นการเมืองไทยไม่ปล่อยให้เวลาทอดออกไปเป็นปีๆ อาจารย์ไชยันต์ มองว่า "เมื่อเวลาทอดไปนาน จัดตั้งนายกฯคนในไม่ได้ ยังมีทางออกคือปลดล็อกเพื่อนำไปสู่นายกฯ คนนอก"

แต่ก็มีคำถามอีกว่าหากเลือก "นายกฯ คนใน" ไม่ได้ ด้วยเสียง ส.ส. 250 คน แต่ทำไมใช้เสียง ส.ส. 250 คน ร่วมเลือกนายกฯ คนนอกได้

จุดนี้ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติม เรื่อง ส.ส. 250 คน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้สภาฯ มีส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน การเลือกนายกฯ ต้องใช้เสียง ส.ส.และ ส.ว. ไม่ต่ำกว่า 376 คน พลังประชารัฐจึงถูกมองว่าได้เปรียบ เพราะมี ส.ว. อยู่แล้ว 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.

แต่การตั้งรัฐบาลเป็นโจทย์ยาก เพราะหากเลือกนายกฯ ได้ แต่มีเสียง ส.ส. ไม่ถึง 250 คน ก็บริหารประเทศยาก เพราะส.ส. 250 เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและร่วมโหวตค้านกฎหมายที่ผ่านสภาฯ ได้สบายๆ

ไม่นับรวมเรื่องเสถียรภาพเวลานี้ ไม่ว่าจะฝั่งเพื่อไทย หรือพลังประชารัฐ หากยังมีเสียง ส.ส.ฝ่ายตัวเองปริ่มๆ 250 คน ก็ไม่มีเสถียรภาพในการเป็นรัฐบาล

เช่น ต่อให้รวม ส.ส.ได้มากกว่า 270 คน สมมติจะต้องโหวตกฎหมายซักฉบับ ก็ต้องระแวง "งูเห่า" ที่เป็น ส.ส.ในพรรคฝั่งรัฐบาลจะแปรภักดิ์ หรือการต่อรองตำแหน่งต่างๆ ในภายภาคหน้าด้วย

กลับมาที่เรื่องเงื่อนเวลาที่ไม่มีกำหนด อาจารย์ไชยันต์ เห็นว่า

ถ้าแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถามว่า ส.ส.ในสภาฯ เขาได้อะไร ในเมื่อรัฐบาลคสช. ยังมีอำนาจบริหารประเทศไปเรื่อยๆ

"ดังนั้นแม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลา แต่สภาฯเขาคงต้องวางเดทไลน์ให้ตัวเองว่าถึงจุดหนึ่งเขาคงต้องทำอะไรซักอย่าง"

อย่างไรก็ตามหากถึงจุดที่เลือก นายกฯคนใน-นายกฯคนนอกไม่ได้ อาจารย์ไชยันต์ เห็นว่ายังมีทางออก คือ มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ใช้แนวทางตามประเพณีการปกครอง แต่เน้นว่า "อย่าไปเข้าใจว่า อยู่ดีๆ จะให้สมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีพระราชวินิจฉัย" กล่าวคือไม่ใช่การขอให้สถาบันใช้พระราชอำนาจตัดสินทิศทางทางการเมือง แต่เป็นฝ่าย "นิติบัญญัติ"(รัฐสภา) และฝ่าย "บริหาร" (รัฐบาล คสช.) ร่วมกันตัดสินใจว่าจะหาทางออกอย่างไร

ซึ่งจุดนี้ อาจารย์ไชยันต์ มองว่ามี 2 ทาง คือ 1. ยุบสภาฯ และ 2. ไม่ยุบสภาฯ ซึ่งหากไม่ยุบสภาฯ ก็จะทำไปสู่การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

"เพราะฉะนั้นทางตันในเครื่องหมายคำพูด ใช้มาตรา 5 ได้ และมีทางเลือกย่อยอยู่ 3 ทาง ยุบสภาฯ รัฐบาลเสียงข้างน้อย และรัฐบาลแห่งชาติ"

ทางเลือก 1 ยุบสภาฯ อาจารย์ไชยันต์ วิเคราะห์ว่า จะยุบสภาฯ ได้ต่อเมื่อ ส.ส.ในสภาฯ ยินยอมยุบและกลับไปเลือกตั้งใหม่ แต่ปกติแล้วเมื่อผ่านการเลือกตั้งมาใหม่ๆ (เดือน มี.ค.) นักการเมืองก็ไม่อยากจะไปเลือกตั้งแล้วลุ้นอีก ฉะนั้นทางเลือกนี้เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นมันเหลือ choice แค่ว่า รัฐบาลทางเสียงข้างน้อย กับรัฐบาลแห่งชาติ

ทางเลือก 2 รัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่ต่างจากข้อมูลที่ผู้เขียนอธิบายข้างต้น เมื่อรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ หรือ ส.ส. 250 เสียง แม้จะมี ส.ว. ช่วยเทคะแนนเสียงให้ แต่ในระยะยาว อาจารย์ไชยันต์ มองว่ารัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพ

ทางเลือก 3 คือรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งสูตรนี้ ต้องมีการกำหนดระยะเวลาชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด และตั้งมาทำอะไร เพราะ "ไม่มีฝ่ายค้าน" และที่สำคัญคือการตกลงกันว่าใครจะเป็น "นายกฯ"

"ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันโน้นต้องผ่านการต่อรอง การทดสอบต่างๆ นานา ที่สุดแล้วเงื่อนไขที่จะกดดันให้แต่ละฝ่ายอ่อนข้ออ่อนแรง เป็นที่ไว้วางใจของคนโดยรวม และเป็นที่เห็นชอบโดยประมุขของรัฐด้วย เพราะต้องผ่านการลงพระปรมาภิไธย"

และเมื่อกางไทม์ไลน์ตามเงื่อนไขข้างต้น เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ต้องปล่อยเวลาให้พรรคการเมืองได้ทดลองฟอร์มรัฐบาล เสนอชื่อนายกฯ คนใน-คนนอก น่าจะอยู่ในช่วง พ.ค.-ส.ค. แต่หากอยู่ในช่วงเวลานี้ สภาฯ คงไม่อยากยุบเพราะเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง

ขณะที่เงื่อนไขจำกัดคือเดือน ก.ย. ควรจะได้ข้อยุติ เพื่อเตรียมเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิษกช่วงปลายในเดือน ต.ค. ดังนั้นการพูดคุยท่าทีของสภาฯ คงต้องเกิดขึ้นต้นปี 2563 ว่าจะเลือกแนวทางใด ซึ่ง 3 แนวทางนั้น จะกลับมาเป็นตัวเลือกอีกครั้ง

"พอถึงตอนนั้น เวลาทอดไปจากเลือกตั้ง มี.ค.2562 ถึงต้นปี2563 อาจจะมีการกำหนดเลือกตั้งเดือน มี.ค.2563 ถึงเวลานั้นทั้ง 3 ทางเลือกจะถูกทบทวนใหม่ ถ้าจะเลือกตั้งห่างกัน 1 ปี เราก็มีเงื่อนไขที่จำเป็น"

3.
ก่อน(กว่า)จะถึง 9 พ.ค.

คำถามนับหมื่น-พัน ต่อการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นเงื่อนไขหนึ่งต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะ "ความไว้ใจ" ต่อการเลือกตั้ง

พูดให้ยากขึ้น "ความชอบธรรม" ของรัฐบาลในอนาคต ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการเลือกตั้งด้วย และผู้คุมกติอย่าง กกต. จึงถูกสังคมกำหนำคำถาม-คำวิจารณ์เวลานี้

ดังคำถามแรกในบทเริ่มการสัมภาษณ์ เราถามอาจารย์ไชยันต์ถึงการฉีกบัตรเมื่อปี 2549 ท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง กับท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับ "กระบวนการ" เป็นคนละประเด็น

ถ้าท้วงตอนผลเลือกตั้งออกมาแล้วจะกลายเป็นขี้แพ้ชวนตี แต่คราวนี้ผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการออกมาให้เห็นบ้าง ซึ่งคนตั้งข้อสงสัยต่อการทำงาานของ กกต. อาจจะไม่ใช่ผลการเลือกตั้ง

เรื่องที่สังคมตั้งคำถาม ประมวลคร่าวๆ คือ ประสิทธิภาพ กกต., จำนวนคน-บัตรไม่ตรงกัน, สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ฯลฯ ซึ่งอาจารย์ไชยันต์ ยังมองในแง่ดี ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นระบบใหม่ที่คนไม่คุ้นเคย มีความซับซ้อนและเพิ่งใช้เป็นครั้งแรก จึงมีความกังวลจากความไม่คุ้ยเคย ดังนั้น กกต. ต้องเร่งชี้แจง

แม้แต่อาจารย์ไชยันต์ ยอมรับ "ผมไม่ค่อยเข้าใจการคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ" และยังมีประเด็นที่บัตรไม่ตรงกับผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งอาจจะมีการเลือกตั้งซ่อม จุดนี้ถ้ามีความไม่โปร่งใส หรือชวนให้คิดว่า กกต. ไม่เป็นกลาง ก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน

ที่สำคัญ "ต้องแยกส่วนการทำงาน กกต. เป็นเรื่องหนึ่ง แต่บัตรที่กาแล้ว เป็นวัตถุพยานที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงต้องเร่งทำความเข้าใจ"

กกต. ยังพอมีเวลาตอบข้อสงสัย และทำให้คนเชื่อใจ ?

มีครับ จากวันนี้ยังมีเวลาเดือนกว่าๆ ก่อนจะถึง 9 พ.ค. มีเวลาชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ การลงโทษใบส้ม-ใบแดง รวมถึงการจัดการเลือกตั้งซ่อมให้บริสุทธิ์ยุติธรรม

"คนที่มีความสงสัยร้องไปที่ กกต. อย่าปล่อยให้รอไปจนถึงประกาศผลอย่างเป็นทางการ ทุกอย่างในโลกความเป็นจริงมีเดทไลน์ของมัน ใครสงสัยก็ร้องไป"

ทั้งน้ำเสียง-เนื้อหาจากการสัมภาษณ์ อาจารย์ไชยันต์ ย้ำเสมอถึงความไม่ตระหนกต่อปรากฎการณ์หลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อการทำงานของ กกต. จากคนรุ่นใหม่-คนหน้าใหม่ ทางการเมือง

ก็ถูกแล้วนี่ครับ ต้องตั้งคำถาม ต้องสงสัย นี่เป็นนิมิตหมายที่ดี เมื่อมีสิทธิเลือกตั้งก็ให้ความสำคัญหวงแหนสิทธิ ถูกแล้วพลเมืองรุ่นใหม่ต้องตื่นตัว

คำถามจากการเลือกตั้ง อนธกาลการเมือง และเรื่องความขัดแย้ง ดูคล้ายสามเงื่อนปมที่กำหนดอนาคตของประเทศไทยในเวลานี้ แต่ก็นับเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่เราจะได้ตั้งคำถามและถกเถียงเพื่อหาคำตอบ ไม่ต่างจากพื้นที่ห้องทำงานของ อาจารย์ไชยันต์ ในวันนี้

แม้พื้นที่การเมืองไทย จะไม่ใช่แค่พื้นที่สี่เหลี่ยม แต่จะทำอย่างไรให้พวกเราเปิดใจ-และไว้ใจที่พูดคุยกันได้เช่นนี้

เจษฎา จี้สละ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง