วันนี้ (26 เม.ย.2562) งานเสวนา เรื่อง "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ทั้งระบบ" จัดโดยคณะปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และอาศรมความคิดระบบโลกศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ราชบัณฑิตยสภา
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกำกับงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือที่ส่งผลกระทบให้ประชาชนสูญเสียรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยว และกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยรัฐบาลได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาสำคัญ คือ การใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและการเผาของเกษตรกร ซึ่งต้องให้ทุกคนร่วมมือช่วยกัน
มลพิษทางอากาศในประเทศไทยเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการหารือดันระหว่างรัฐ และนักวิชาการ เพื่อร่วมกันหาทางออก แก้ปัญหาอากาศอย่างยั่งยืน คืนอากาศบริสุทธิ์ให้ประเทศ
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้ปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันเป็นวาระแห่งชาตเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ดังนั้น กรรมการยุทธศาสตร์ชาติจึงต้องมีการหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขเรื่องนี้เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
"ฝาชีอากาศผกผัน" ต้นเหตุวิกฤต PM 2.5
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า ขณะนี้ปัญหา PM 2.5 ไม่ใช่เพียงปัญหามลพิษทางอากาศทั่วไป แต่กำลังจะทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต หากไม่รีบจัดการปัญหาหมอกควันจะยิ่งเกิดบ่อยมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เกิดจากอากาศ แต่อากาศเป็นเพียงตัวกระตุ้นเท่านั้น เมื่ออากาศเปลี่ยนก็กลายเป็นฝาชีมาครอบทำให้ฝุ่นไม่สามารถกระจายขึ้นไปได้
เวลาคนเผา มันไม่ได้เกิฝุ่นอย่างเดียว แต่เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนตรัสออกไซด์ เมื่อก๊าซเหล่านี้ลอยตัวขึ้นไปแล้วทำปฏิกิริยากับแสงแดด เรียกว่าโฟโตเคมิคอลรีแอคชัน จนเกิดเป็นฝาชีอากาศผกผัน
เมื่อเกิดฝาชีอากาศผกผันทำให้ฝุ่นละอองสะสมและมีความเข้มขนเพิ่มมากขึ้น อย่างที่ จ.เชียงใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความกดอากาศสูงมาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดก็ทำให้ประชาชนเผชิญกับวิกฤตฝุ่นหมอกควันได้
ถ้าเราหยุดเผาได้ คือ จบ เพราะการเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซล และการเผาของเกษตรกร เป็นแหล่งกำเนิดถึงร้อยละ 70-80 เราต้องเริ่มคิดแล้วว่า ปลาเวลาน้ำเน่ามันก็ตาย แล้วตอนนี้อากาศเริ่มเน่าแล้ว เราจะเป็นอย่างไร
การให้ความสนใจกับปัญหาฝุ่นถือเป็นเรื่องที่เร่งด่วนกว่าการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยตรง และเป็นตัวช่วยทำให้เกิดโลกร้อนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เนื่องจากฝาชีอากาศผกผันนี้จะยิ่งไปช่วยพอกให้ก๊าซโอโซนหนาขึ้นไปอีก
ต่อไปมันจะไม่มีแล้ว คำว่ายิ่งสูงยิ่งหนาว แต่มันจะยิ่งสูงยิ่งร้อน มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าคนที่อาศัยอยู่บนคอนโดสูง จะรู้สึกร้อนกว่าคนที่อาศัยอยู่ในบ้านชั้นเดียว เนื่องจากฝุ่นจะลอยขึ้นไปข้างบน แต่ออกไปไหม่ได้ก็จะสะสมอยู่ต่อไป
ศ.ดร.ธนวัฒน์ ระบุว่า การประชุมในวันนี้ หลังจากมีการพูดคุยเพื่อหารือกับทั้งภาครัฐ และนักวิชาการจะมีการสรุปข้อเสนอเป็นสมุดปกขาวเพื่อนำเสนอรัฐบาล ให้เป็นแนวทางให้การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 ทั้งระบบอย่างยั่งยืน
จ่ายสู้ฝุ่นปีละ 6,380 บาท ต่อครัวเรือน
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและแนวทางรับมือ ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีข้อมูล PM 2.5 ครอบคลุมเพียงพอ จึงได้ทำวิจัยเกี่ยวกับ PM 10 ซึ่งความเสียหายจาก PM 2.5 ค่อนข้างมากกว่า PM 10 อยู่แล้ว
สำหรับการประเมินมูลค่าต้นทุนมลพิษทางอากาศโดยใช้แนวคิด Subjective We-Being หรือความพึงพอใจในชีวิต โดยค่าความเต็มใจที่จะจ่ายต่อครัวเรือนเพื่อลด PM10 จำนวน 1 มคก.ต่อ ลบ.ม. นั้นเท่ากับปีละ 6,380 บาท โดยครัวเรือนในกรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 2.89 ล้านครัวเรือน
ยกตัวอย่าง ค่าความเต็มใจจ่าย หากมีห้อง 2 ห้อง ห้อง 1 มีฝุ่นพิษ กับอีกห้องที่อากาศบริสุทธิ์ ประชาชนมีความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่ออยู่ในห้องที่มีอากาศบริสุทธิ์เท่ากับปีละ 6,380 บาท
ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทุกๆ 1 มคก.ลบ.ม.ของ PM 10 ที่เกินระดับความปลอดภัย สร้างความเสียหายมูลค่าปีละ 18,420 ล้านบาท เปรียบเทียบจากค่ามาตรฐานฝุ่น PM 10 ซึ่งอยู่ที่ 20 มคก.ต่อ ลบ.ม. ขององค์การอนามัยโลก
ปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM10 อยู่ที่ 44.21 มคก.ต่อ ลบ.ม. ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งหมดมูลค่าปีละ 446,023 ล้านบาท
สำหรับต้นทุนของสังคมไทยจากฝุ่น PM 10 กรณีทุกครัวเรือนได้รับผลกระทบ 1.79 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 11.62 ของ GDP) ขณะที่กรณี ร้อยละ 75 ของครัวเรือนได้รับผลกระทบ 1.35 ล้านล้านบาท (ของ GDP) และกรณีที่ ร้อยละ 50 ของครัวเรือนได้รับผลกระทบ 0.90 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 5.81 ของ GDP) ขณะที่งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมามีน้อยมาก
แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีงานศึกษาใดประเมินต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่น PM2.5 เนื่องจากเพิ่งเริ่มมีการจัดเก็บไม่นานและยังมีข้อมูลไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาใช้ต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่น PM10 เป็นข้อมูลแสดงความเสียหายขึ้นต่ำที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าสอดคล้องกับงานศึกษาของ World Bank & Institute for Health Metrics and Evaluation (2016) ที่ประมาณการณ์ว่ามลพิษทางอากาศก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูงถึง 210,603 และ 871,300 ล้านบาทในปี 2533 และ 2556 ตามลำดับ เมื่อปรับมูลค่าของเงินให้อยู่ ณ ปี 2561
นอกจากนั้น แบบจำลองที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ยังสามารถประมาณมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายหน่วยสุดท้ายรายจังหวัดทั่วประเทศไทยได้ด้วย โดยใช้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีของจังหวัดต่างๆ ที่มีการรายงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผลการศึกษาพบว่า ในทุกๆ 1 มคก.ต่อ ลบ.ม. ของฝุ่น PM10 ที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน ครัวเรือนเต็มใจที่จะจ่าย 10 อันดับแรก ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร 18,420 ล้านบาทต่อปี
- นนทบุรี 3,458 ล้านบาทต่อปี
- ชลบุรี 3,456 ล้านบาทต่อปี
- ปทุมธานี 3,081 ล้านบาทต่อปี
- นครราชสีมา 2,939 ล้านบาทต่อปี
- สมุทรปราการ 2,386 ล้านบาทต่อปี
- สุราษฎร์ธานี 2,338 ล้านบาทต่อปี
- เชียงใหม่ 1,890 ล้านบาทต่อปี
- นครศรีธรรมราช 1,855 ล้านบาทต่อปี
- อุบลราชธานี 1,807 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายหน่วยสุดท้ายในจังหวัดนั้นๆ ที่ประมาณได้ไปคูณกับระดับความเข้มข้นของมลพิษจากฝุ่น PM10 ที่เกินกว่าระดับปลอดภัยเพื่อประเมินมูลค่าต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่น PM10 ได้
คนรุ่นอนาคตไม่สามารถนั่งไทม์แมชชีนมาตัดสินใจกับเราได้ เราต้องตัดสินใจแทนเขา ส่วนตัวคิดถึงประโยคในหนังสือของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ว่า เราจะตายกันโง่ๆ จากมลพิษจริงหรือ ถ้าคิดตรงนี้ก็คงพอจะทำให้เราคิดแก้อะไรได้บ้าง
ชูมาตรการ ระยะสั้นถึงระยะยาว ลดฝุ่นพิษทั้งระบบ
ทั้งนี้ รศ.ดร.วิษณุ เสนอมาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น เพิ่มจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศให้มาขึ้นในทุกพื้นที่พร้อมเชื่อมโยงแอปพลิเคชันแลล Real time เคร่งครัดในการตรวจจับควันดำ การดัดแปลงเครื่องยนต์ และตรวจสภาพช่วงต่อทะเบียนรถยนต์ใหม่ ในด้านภาคเกษตรและป่าไม้ ต้องห้ามเผาในพื้นที่ป่าไม้อย่างเคร่งครัดพร้อมวางระบบการแจ้งเหตุไฟไหม้และดับไฟด้วยความรวดเร็ว ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลป่าไม้
นอกจากนี้ ต้องมีการสร้างข้อตกลงเพื่อลดการเผาด้วยความสมัครใจร่วมกับภาคเกษตรกร ภาคเอกชน และรัฐบาล รวมทั้งต้องเพิ่มแรงจูงใจที่เหมาะสมให้เกษตรที่ไม่เผส และกำหนดการห้ามเผาในพื้นที่ใกล้ชุมชน และรัฐบาลต้องเร่งเจรจาความร่วมมือและสร้างข้อตกลงร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อลดมลพิษที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน
มาตรการระยะกลาง ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบจากมลพิษและฝุ่นละอองต่อสุขภาพ สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของมลพิษประเภทต่างๆ ตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ ต้องจำกัดปริมาณรถยนต์ในบริเวณเขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชน เก็บภาษีเพิ่มสำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานนานหลายปี
ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหมัก และส่งเสริมตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อการเตรียมแปลงและเก็บเกี่ยว และส่งเสริมการทำวนเกษตรแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่ลาดชัน
ระยะยาว ปรับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศในทุกมลพิษให้เข้มงวดมากขึ้น และยกระดับมาตรฐานน้ำมันและไอเสียจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 และยูโร 6 ตามลำดับ และส่งเสริมเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้รถไฟฟ้า EV และส่งเสริมตลาดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้แพร่หลาย
สธ.เปิด Cleanroom บริการ ปชช.หลบ "ฝุ่นพิษ"
ขณะที่ นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดย 9 ใน 10 ของประชากร สัมผัสมลพิษทางเดินอากาศเกินค่าที่องค์การอนามัยโลก
นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเกิดโรคไม่ติดต่อ รองจากการสูบบุหรี่ ซึ่งมีประชากรปีละ 7 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจากมลพิษทางอากาศ สิ่งที่น่ากังวล คือ เด็กอายุ 0-5 ปี เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศปีละ 570,000 คน
สิ่งที่เราคาดหวัง คือ ค่าเฉลี่ยอายุยืนของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 70 ปี เป็น 80 ปี และ อายุค่าเฉลี่ยสุขภาพดี ที่ไม่มีโรคใดๆ เพิ่มขึ้นจาก 66 ปี เป็น 75 ปี แต่ต้องมาหาวิธีให้เราไปถึงเป้าหมายให้ได้
รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้ข้อมูลส่วนใหญ่จากต่างประเทศ แม้ว่าปัญหามลพิษที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนจะไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงแค่ 1-2 ปี แต่กรมอนามัย ยังคงเฝ้าระวังโรคจากสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง และประเมินสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนประชาชนเป็นประจำทุกวัน พร้อมสนับสนุนการใช้ พ.ร.บ.สธ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ทั้งยังเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลในการรองรับการรักษา เปิดคลินิกมลพิษให้คำปรึกษาและแนะนำการปฏิบัติตน จัดห้อง Cleanroom ในสถานบริการ สธ.อีกด้วย