วันนี้ (13 พ.ค.2562) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “วัดระดับความเครียดของผู้ปกครอง ช่วงใกล้เปิดเทอม” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาล - มัธยมศึกษา ทั้งสังกัดโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 1,149 คน
ผลสำรวจพบว่า ความเห็นต่อค่าใช้จ่ายในช่วงใกล้เปิดเทอมของบุตรหลานในปีนี้ทำให้เกิดความเครียดมากน้อยเพียงใด มีดังนี้
- มากที่สุด ร้อยละ 5.3
- มาก ร้อยละ 17.8
- ปานกลาง ร้อยละ 50.2
- น้อย ร้อยละ 15.9
- น้อยที่สุด ร้อยละ 10.8
ปัญหาหลักที่ผู้ปกครองพบเจอในช่วงใกล้เปิดเทอมปีนี้
- มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ทำให้การเงินติดขัด ร้อยละ 50.6
- สินค้าเกี่ยวกับการเรียนแพงขึ้น ร้อยละ 41.1
- เงินช่วยเหลือที่ได้จากรัฐไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริง ร้อยละ 38.1
- รายได้ รายรับลดลงงานลดลง ร้อยละ 29.3
- โรงเรียนมีค่าเทอมค่าบำรุงค่ากิจกรรม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.5
- จ่ายค่าเรียนพิเศษเสริมของลูกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.8
- มีจำนวนบุตรเข้าเรียนเพิ่มขึ้น ชุดนักเรียนเปลี่ยนแบบฟอร์มใหม่ ร้อยละ 24.7
ผู้ปกครองเตรียมเงินค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมปีนี้
- มีเงินที่แบ่งไว้สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่แล้ว ร้อยละ 58.4
- ใช้เงินประหยัดกว่าช่วงปกติ เพื่อมีเงินพอกับค่าใช้จ่าย ร้อยละ 42.2
- รอเงินเดือนล่าสุดออก ร้อยละ 17.9
- ขอยืมเงินจากญาติ พี่น้อง เพื่อน ก่อน ร้อยละ 11.9
- จำนำทรัพย์สิน เช่น ทอง ทีวี ฯลฯ ร้อยละ 8.2
- กู้เงินนอกระบบ ร้อยละ 6.8
- รูดบัตรเครดิต เพราะสามารถผ่อนจ่ายเดือนถัดไปได้ ร้อยละ 6.7
หากเปรียบเทียบกับปีที่แล้วสภาพการเงินปัญหาในช่วงเปิดเทอมเป็นอย่างไร
- แย่กว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 40.1
- พอๆกับปีที่แล้ว ร้อยละ 52.6
- ดีกว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 7.3
เรื่องที่อยากให้ภาครัฐส่งเสริมช่วยเหลือด้านการศึกษามากที่สุด 5 อันดับแรก
- อยากให้เพิ่มเงินช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะปัจจุบันซื้อได้ชุดเดียว ร้อยละ 38.9
- ช่วยให้ค่าเทอมโรงเรียนเอกชนถูกลงช่วยอุดหนุนเงินบางส่วนลดค่ากิจกรรม ร้อยละ 15.7
- ให้คุณครูเอาใจใส่ในการสอนมากกว่านี้ เด็กจะได้ไม่ต้องเรียนพิเศษเพิ่ม ร้อยละ 9.9
- ให้มอบทุนการศึกษาให้เด็กเรียนดี เด็กยากจน ร้อยละ 9.4
- อยากให้มีการเรียนฟรีจริงๆ จนจบปริญญาตรี ร้อยละ 5.8
ยอมรับค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ผู้ปกครองคนหนึ่ง ที่เพิ่งมีบุตรหลานเข้าเรียนชั้นป.1 ในโรงเรียนเอกชน ระบุว่า เนื่องจากต้องการให้บุตรหลานเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จึงต้องเตรียมรายจ่ายค่าเทอมการศึกษาเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัว ของโรงเรียนในสังกัดรัฐ เนื่องจากเข้าเรียนเทอมแรก จึงต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ทั้งค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ารถรับส่ง
แม้ว่าจะเตรียมเงินสำรองไว้จำนวนหนึ่ง แต่ยอมรับว่าเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นบาท
นอกจากนี้ยังมีความคาดหวังว่าบุตรหลานจะได้รับการเรียนการสอนที่เต็มศักยภาพหรือไม่ เนื่องจากโรงเรียนมีห้องเรียนมาก เพื่อให้รับจำนวนนักเรียนที่เข้ามาสมัครเรียนในโรงเรียนเอกชน ซึงบุตรหลานอาจจะไม่ได้รับการดูแลทั่วถึงเพียงพอ