วันนี้ (15 พ.ค.2562) ถึงเวลาเลือกผู้นำและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของประชาธิปัตย์ หลังการเลือกตั้ง วันที่ 24 มี.ค. ที่ประชาธิปัตย์แพ้อย่างราบคาบ จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่ง หลังครองตำแหน่งนายกว่า 14 ปี เพราะได้ ส.ส.ต่ำ 100 เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี
การเลือกตั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีโจทย์ยากรอยู่ คือการกำหนดทิศทางของพรรคว่าจะร่วมรัฐบาลกับขั้วใดหรือจะเลือกเป็นฝ่ายค้าน
คนที่ 1 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จุดแข็งคือได้รับการสนับสนุนจากนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรค และเป็นลูกหม้อ ส.ส. ภาคใต้ ซึ่งเป็น ส.ส. สัดส่วนมากที่สุดในพรรค และการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ให้น้ำหนักกับ ส.ส. ถึง 70% ท้ายสุดคือบุคคลิกส่วนตัวของนายจุรินทร์ ที่มีความยืดหยุ่นสูง ได้รับการยอมรับจากคนในพรรค-คนนอกพรรค
ที่มา เพจ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
คนที่ 2 นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จุดแข็ง คือภาพลักษณ์ที่เป็นคนรุ่นใหม่และเป็นทีมนโยบายของประชาธิปัตย์ นายกรณ์มีเสียงสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก ส.ส.ภาคใต้ พิจารณาจากการลงพื้นที่และติดตามปัญหาที่มักมี ส.ส. และสมาชิกพรรคใต้ให้การสนับสนุน ที่สำคัญนายกรณ์ ยังเป็นที่รู้จักจากคนภายนอกด้วย นอกจากนี้ยังได้ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส. จังหวัดตาก ที่เป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ เพียง 1 เดียว ในภาคเหนือ มาเป็นทีมงานที่พร้อมเป็นเลขาธิการพรรคด้วย
ที่มา เพจ Korn Chatikavanij
แต่สิ่งที่เป็นทั้งจุดแข็ง-จุดอ่อนในเวลาเดียวกัน คือภาพลักษณ์ความใกล้ชิดกับนายอภิสิทธิ์ จนบางครั้งมีคนเรียกว่าเป็น “เงา” ของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งหากจะกลายเป็นจุดอ่อน ก็เพราะคนในพรรคอาจคิดว่า การเลือกนายกรณ์ จะไม่ทำให้พรรคแตกต่างจากสมัยนายอภิสิทธิ์ อย่างไรก็ตามคนที่มีแต้มต่อที่พอจะสู้กับนายจุรินทร์ได้มีเพียงนายกรณ์เท่านั้น
คนที่ 3 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน หรือ “หล่อเล็ก” อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็น ส.ส. จุดแข็งของนายอภิรักษ์ คือการเป็นที่รู้จักผ่านหน้าสื่อมวลชน และคนกรุงเทพฯ ผ่านการเป็นผู้ว่า กทม. แต่การสนับสนุนภายในพรรคยังไม่มีกลุ่มสนับสนุนหลัก ขณะที่ ส.ส. กทม. ที่เคยร่วมงานกับนายอภิรักษ์ ครั้งนี้ไม่มีผู้สมัคร ส.ส. ประชาธิปัตย์ ที่จะเข้าวินเป็น ส.ส. เลย จึงเสียแต้มที่จะโหวตในฐานะ ส.ส. แต่อาจยังพอมีเสียงสมาชิกพรรคในส่วนภาคกลางที่พร้อมสนับสนุน นอกจากนี้ยังมีข่าวทาบนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย มาเป็นทีมงานด้วย
ที่มา เพจ Apirak Kosayodhin
คนที่ 4 นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค มีความพร้อมที่จะลงสู่ศึกชิงตำแหน่งหัวน้าพรรคคนใหม่ โดยช่วงต้นมีกระแสข่าวว่า นายพีระพันธ์ อาจได้แกนนำขั้ว กปปส. อย่างนายถาวร เสนเนียม แต่จนถึงขณะนี้นายถาวรก็ไม่ได้ออกมายืนยันว่าจะสนับสนุนใครเป็นพิเศษ แต่ขั้วนายพีระพันธ์ แน่ชัดว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอดีต กปปส.เดิมเป็นทุน ส่วนประเด็นที่เป็นรองคืออาจไม่มีความเป็น “ซุปตาร์” เท่ากับสามชื่อแรก
ที่มา เพจ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
วิเคราะห์จุดยืน 4 ผู้ท้าชิง คนที่ 1 นายจุรินทร์ แม้จะเป็นสายตรงของนายชวน แต่เชื่อว่านายจุรินทร์ จะยึดเสียงส่วนใหญ่ของพรรคที่มีแนวโน้มสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล คนที่ 2 นายกรณ์ แม้มีภาพลักษณ์เป็นคนสนิทของนายอภิสิทธิ์ และสนับสนุนจุดยืนนายอภิสิทธิ์ตลอดมา แต่การออกมาปฏิเสธข่าวว่านายกรณ์ ประกาศหนุนพรรคพลังประชารัฐที่ จ.นครศรีธรรมราช ก็ไม่ชัดเจน โดยนายกรณ์บอกว่าเป็นการตั้งคำถามจากนักธุรกิจที่ร่วมงาน นายกรณ์จึงโยนกลับให้ผู้ร่วมงานช่วยโหวต ซึ่งส่วนใหญ่โหวตให้ร่วมงานกับพลังประชารัฐ และนายกรณ์ อธิบายท้ายคำชี้แจงว่าขอ "ฟังเสียงประชาชน"
ส่วนนายอภิรักษ์ และนายพีระพันธ์ ที่มีเสียงสนับสนุนกลุ่ม กปปส. อยู่แล้ว จึงชัดเจนว่ามีท่าทีสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐแน่นอน
ดังนั้นไม่ว่า 1 ใน 4 คน ที่จะได้เป็นหัวหน้าพรรคคือใคร มีความเป็นไปได้สูงที่ ส.ส. ส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้ร่วมรัฐบาลกับขั้วพลังประชารัฐ คาดการณ์ไปถึงจังหวะที่ ส.ส. จะต้องโหวตเลือกนายกฯ ในรัฐสภา แน่นอนว่าจะมี ส.ส. จำนวนหนึ่งที่ไม่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะเคยลั่นวาจาว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจตั้งแต่ตอนหาเสียง แต่ก็คงไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของพรรค
อย่างไรก็ตามหลังวันนี้ ประชาธิปัตย์จะไม่มีข้ออ้างในการแสดงจุดยืนของพรรค เพราะช่วงที่ผ่านมารอเพียงการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารชุดใหม่ ที่จะกำหนดท่าทีของประชาธิปัตย์ในครั้งนี้