วันนี้ (22 พ.ค.2562) ที่แผนกคดีเลือกตั้ง ศาลฎีกา สนามหลวง เมื่อเวลา 14.00 น. องค์คณะแผนกคดีเลือกตั้ง ได้นัดฟังคำสั่ง คดีหมายเลขดำ ลต.(ส.ว.) 2/2562 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง ยื่นขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยและมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของ นายบรรจบ นามวิเศษอายุ 60 ปี อาชีพรับราชการ ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นผู้สมัครรับคัดเลือกเป็น ส.ว.อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์
โดยชั้นพิจารณาของศาลนายบรรจบ ผู้คัดค้าน ไม่ยื่นคำคัดค้านศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ไต่สวนและตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า นายบรรจบ ผู้คัดค้าน เป็นผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว.อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ กลุ่มการศึกษาและสาธารณสุข ต่อมา ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด พบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง หรือการกระทำใดๆ ที่เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
โดยพบว่าเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2561 เวลาประมาณ 10.00 น. นายบรรจบ ผู้คัดค้าน ใช้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. หญิงคนหนึ่ง ในจ.บุรีรัมย์ กลุ่มเดียวกัน และพูดคุยในลักษณะชักชวนให้ไปลงคะแนนเสียงให้ โดยจะคืนค่าสมัครให้ โดยผู้สมัครหญิงคนนั้นได้เปิดคลิปเสียงสนทนาดังกล่าวให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด และได้รายงานต่อกกต.
ซึ่ง กกต.ไต่สวนแล้ว เห็นว่าการกระทำของนายบรรจบ ผู้คัดค้าน เป็นการสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิ์เลือกลงคะแนนให้แก่ผู้คัดค้าน เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 มาตรา 77 (1 ) ทำให้การเลือกตั้ง ส.ว.ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงมีคำสั่งให้ระงับสิทธิสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ของ นายบรรจบ ผู้คัดค้านไว้เป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 1 ปีตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 224 (4) และ มาตรา 225 ส่วนการกระทำของนายบรรจบ ผู้คัดค้าน เป็นการทำให้การเลือก ส.ว. ไม่ได้เป็นไปด้วยสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่นั้น
ศาลฎีกา เห็นว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ฯ มาตรา 61 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 226 ววรคสาม บัญญัติว่า ก่อนการประกาศผลถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง กระทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
โดยข้อเท็จจริง ได้ความจากการไต่สวนว่า ก่อนมีการเลือก ส.ว.ระดับจังหวัด นายบรรจบ ผู้คัดค้าน โทรศัพท์ไปหาบุคคลคนหนึ่งแล้วพูดว่า "ให้ไปลงคะแนนให้ผมระดับจังหวัด เดี๋ยวผมจะให้ค่าสมัครคืน... ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า ในการเลือก ส.ว.ระดับจังหวัดหากบุคคลนั้นเลือกนายบรร จบ ก็จะให้ผลประโยชน์ตอบแทน โดยจะจ่ายเงินจำนวนเท่ากับค่าสมัครคืนให้ อันเป็นการจูงใจให้เลือก นายบรรจบ และเป็นการเอาเปรียบผู้สมัครรายอื่นทำให้เจตนารมณ์ของการเลือก ส.ว. ที่ต้องการคนดี และบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพหรือทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคมเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในวุฒิสภานั้นต้องเสียไป
การกระทำของ นายบรรจบ จึงเป็นการสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิ์เลือกลงคะแนนให้แก่ตน อันมีผลทำให้การเลือก ส.ว.ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม นายบรรจบ จึงต้องถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 226 วรรคสาม และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ฯ มาตรา 61 วรรคสอง
จึงพิพากษา ให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของ นายบรรจบ นามวิเศษผู้สมัคร ส.ว.เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา (22 พ.ค.62)
สำหรับการอ่านคำสั่งวันนี้ คงมีเพียงผู้แทนฝ่ายผู้ร้อง ที่เดินทางมารับทราบคำสั่งศาล ส่วนนายบรรจบ ผู้คัดค้านไม่ได้เดินทางมาศาล