วันนี้ (24 พ.ค.2562)ในการแถลงข่าวความต้องการกัญชาทางการแพทย์ การนำมาใช้และวิธีการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในรอบ 1 เดือนที่ผ่าน มีผู้ป่วย 7 คน อายุระหว่าง 20-60 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคเกินขนาด
ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศรีษะ จึงย้ำว่ากัญชาเป็นยาเสพติด และไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค หากอยู่นอกเหนือจาก 4 กลุ่มโรคที่กรมการแพทย์ระบุ ไม่แนะนำให้ประชาชนใช้และการใช้ต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น
ขณะเดียวกันกรมการแพทย์ จะนำข้อมูลที่มีการลงทะเบียนการครอบครองกัญชาของผู้ป่วยมาประเมินกลุ่มอาการของโรคและจัดทำระบบการสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ในระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำระบบการสั่งจ่ายสารสกัดกัญชาให้กับศูนย์มะเร็ง สังกัดกรมการแพทย์ 7 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นมาตรฐานและตัวอย่างให้กับสถานพยาบาลอื่นๆนำไปปรับใช้กับผู้ป่วยในอนาคต
วิชัยยุทธ เตือนใช้ยากัญชาเกินขนาดเสี่ยงปอดอักเสบ
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และหัวหน้าห้องฉุกเฉิน รพ.วิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีพบผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากการใช้น้ำมันกัญชาเกินขนาดจนต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินของว่า ตั้งแต่มีข่าวประโยชน์ของกัญชาในการรักษาสารพัดโรค ซึ่งบางโรคยังไม่มีข้อมูลยืนยันผลการรักษาทางการแพทย์ เริ่มมีคนไข้เข้าห้องฉุกเฉินในเวลากลางดึกเนื่องจากกินน้ำมันกัญชาเกินขนาดหลายคนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
ผู้ป่วยชายไทยอายุ 28 ปี มีปัญหานอนไม่หลับ และดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน ไม่เคยใช้กัญชามาก่อนในชีวิต เพิ่งไปรับน้ำมันกัญชาครั้งแรกมา 1 ขวดขนาด 5 มิลลิลิตร เที่ยงคืนแล้วยังนอนไม่หลับ จึงทดลองหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้น 1 หยด รอสักพักไม่หลับ หยดต่ออีก 2 หยด เริ่มรู้สึกผ่อนคลาย จึงหยดต่อไปเรื่อยๆ รวมแล้วประมาณ 40 หยด ใช้ไปประมาณ 2 มิลลิลิตร ตอนตี 3 เริ่มมีประสาทหลอน เห็นนรกมาเอาตัว เห็นภาพภรรยาเป็น 2 คน พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง พูดฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แขนขาเกร็ง ลุกยืนเดินไม่ได้ มีคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว
ภรรยาเรียกรถฉุกเฉินมาส่งโรงพยาบาล ตรวจเลือดเม็ดเลือดขาวในเลือดขึ้นสูง 20,100 ได้ให้น้ำเกลือและให้นอนพักในรพ. รักษาแบบประคับประคอง เพราะไม่มียาต้านพิษกัญชาโดยตรง คนไข้อาการดีขึ้นเอง แต่หลังจากนอนตื่นขึ้นมา จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ครบถ้วน คนไข้รายนี้ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับน้ำมันกัญชา ยิ่งทำให้ผลข้างเคียงของน้ำมันกัญชาโดยเฉพาะจากสารเคมี THC (Tetrahydrocannabinol) เพิ่มสูงขึ้น
ภาพ:หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
คนไข้ขอใบรับรองแพทย์ใบเบิกทางใช้กัญชา
ขณะนี้ทุกวันจะมีคนไข้หลายคนขอใบรับรองแพทย์จากหมอ เพื่อยืนยันว่าป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับและโรคอื่นๆ เพื่อไปขอรับกัญชา ถึงแม้จะไม่มีรายงานว่ากินน้ำมันกัญชาเกินขนาดทำให้ถึงตาย แต่ก็ทำให้ป่วยถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลได้
ในอนาคตเชื่อว่าจะมีคนไทยที่กินน้ำมันกัญชาเกินขนาดมาเข้ารพ.แบบฉุกเฉินมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าถ้ากินน้ำมันกัญชาเกินขนาดอาจเกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันตรายมากหากต้องขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร ถ้าจะทดลองใช้ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เริ่มวันแรก 1 หยด ค่อยๆปรับช้าๆ ใช้เวลาหลายๆวัน ปรับขึ้นทีละ 1-2 หยด ไม่ใช่ใช้มากตั้งแต่วันแรกอย่างผู้ป่วยรายนี้
อันตรายอีกอย่างหนึ่งของการหยดน้ำมันหลายๆหยดใต้ลิ้นในเวลาเดียวกัน (ไม่เฉพาะแต่น้ำมันกัญชา) แล้วล้มตัวลงนอน คือการสำลักน้ำมัน เพราะน้ำมันเบากว่าน้ำ น้ำมันอาจเล็ดลอดไหลลงหลอดลมและปอดโดยเฉพาะคนสูงอายุ โดยคนที่สำลักไม่รู้ตัว การสำลักน้ำมันปริมาณน้อยๆต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดปอดอักเสบจากการสำลักน้ำมัน เมื่อเป็นปอดอักเสบแล้วรักษายาก
โดยระบุว่า เห็นด้วยกับข้อบ่งชี้ของโรคที่เมื่อรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่ได้ผล ให้ใช้น้ำมันกัญชาได้ 1.โรคมะเร็งระยะสุดท้าย 2.คลื่นไส้อาเจียน จากการรับยาเคมีบำบัด 3.ปวดเรื้อรังจากโรคมะเร็ง 4. กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคเอ็มเอสปลอกปลายประสาทอักเสบ และ 5.โรคลมชักดื้อยาในเด็ก
จากประสบการณ์ของผมในการดูแลรักษาคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้น้ำมันกัญชาหลายคน พบว่าน้ำมันกัญชาสามารถช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน และปวดได้บ้าง แต่ไม่สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งขั้นสุดท้ายได้ ไม่ควรใช้น้ำมันกัญชากับคนที่ป่วยด้วยโรคที่ปัจจุบันมียารักษาได้ผลอยู่แล้ว อย่างเช่นโรคติดเชื้อเอชไอวี จะเป็นอันตรายกับผู้ป่วยหากหยุดยาต้านไวรัสแล้วเปลี่ยนมากินน้ำมันกัญชาแทน เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาอีกด้วย
ลงทะเบียนออนไลน์ยอดพุ่ง 31,177
น.พ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากสารสกัดกัญชาที่องค์เภสัชกรรมผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ผู้ป่วยก็จะไปซื้อกัญชาจากใต้ดินที่มีราคาสูง และไม่มีคุณภาพมาใช้ จึงต้องผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ และไม่ควรนำเข้าจากต่างประเทศ ดั้งนั้น ต้องเร่งปลดล็อกกัญชาและกัญชง ออกจากสารเสพติดประเภท 5
ส่วนการลงทะเบีนครอบครองกัญชาผ่านระบบออนไลน์ทาง www.cbd-oss.org ของสภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 13-21 พฤษภาคมที่ผ่านมา มี 139,977 คน มีผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จ 31,177 คน โดย 5 จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 8,726 คนนนทบุรี 1,400 คน นครราชสีมา 1,205 คน เชียงใหม่ 1,203 คน และปทุมธานี 1,145 คน
เมื่อแบ่งตามภาค ภาคกลาง มีจำนวน 15,748 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,157 คน ภาคเหนือ จำนวนทั้งหมด 3,202 คนภาคตะวันออกและภาคตะวันตก 3,699 คน /ส่วนอันดับอาการของผู้ป่วย ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคไบโพลา โรคซึมเศร้าและอัลไซเมอร์