วันนี้ (25 มิ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย น.ส.สาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกันแถลงผลสุ่มตรวจวัตถุกันเสียในขนมจีนและก๋วยเตี๋ยวเส้นสดจากตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน
นพ.ธเรศ กล่าวว่า การสุ่มตรวจการใช้วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยว ชนิดเส้นสด ตั้งแต่ปี 2560-2562 พบว่าไม่ผ่านมาตรฐานลดลง (ปริมาณวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) โดยปี 2560 ไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 9.4, ปี 2561 ผ่านมาตรฐานทั้งหมด และในปี 2562 สุ่มตรวจ 200 ตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 1.43 ซึ่งดำเนินคดีแล้ว 3 ราย และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี 4 ราย

เลขาธิการ อย. กล่าวว่า จะเข้มงวดเรื่องของฉลากอาหารให้มากขึ้น โดยประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานที่ผลิต ให้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
พบ 2 ยี่ห้อใส่สารกันบูดเกินมาตรฐาน
ขณะที่ น.ส.สารี กล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์เรื่องสารกันบูดในขนมจีนดีขึ้น จากการสุ่มตรวจเส้นขนมจีน 31 ตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามี 2 ยี่ห้อ (ร้อยละ 6) คือ ยี่ห้อหมื่นบูรพา ตลาดคลองเตย และ M&A บ้านขนมจีนปทุมจากตลาดสี่มุมเมือง ที่มีปริมาณกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีขนมจีน 4 ยี่ห้อ ที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดไว้บนฉลาก และยังพบว่าขนมจีน 1 ยี่ห้อ มีการแสดงข้อความบนฉลากว่า ปราศจากสารกันบูด, ปราศจากสิ่งเจือปน หรือไม่มีสารเจือปน แต่ผลการตรวจพบว่ามีการใช้สารกันบูด ซึ่งถือว่าข้อมูลที่แจ้งบนฉลากเป็นเท็จ
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมดีขึ้นจากปี 2559 ที่พบสารกันบูดเกินมาตรฐาน 2 ยี่ห้อ จาก 12 ยี่ห้อ (ร้อยละ 17) และในปี 2560 พบสารกันบูดเกินมาตรฐาน 2 ยี่ห้อ จาก 17 ยี่ห้อ (ร้อยละ 12)

ดันผลิตสินค้าคุณภาพ-ติดสลากถูกต้อง
สำหรับขนมจีนเป็นอาหารที่คนไทยนิยมกิน ซึ่งการผลักดันให้ผู้ผลิตขนมจีนผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและแสดงฉลากที่ถูกต้อง เป็นการยกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร รวมถึงผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลบนฉลากในการตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคขนมจีนได้
ทั้งนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากตรวจพบว่ามีการใช้วัตถุกันเสียในปริมาณมากจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท