วันนี้ (25 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการอภิปราย ระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อว่า จากนั้น เวลา 12.00 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญเป็นประชามติแบบมัดมือชก ออกกฎหมายห้ามรณรงค์เรื่องการทำประชามติ เอาผิดผู้เห็นต่าง ความเห็นตรงข้ามรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างการตั้งครู ก. ครู ข.ครู ค. พ่วงการแต่งตั้ง 250 ส.ว. ร่วมโหวตนายกฯ คิดสูตรคำนวณ ส.ส. สรุปว่ารัฐบาลนี้เป็นการสืบทอดอำนาจ ได้รัฐมนตรีคนเดิม ๆ กระทรวงสำคัญเดิม ๆ หากการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่แก้รัฐธรรมนูญส่วนนี้ ก็จะได้พบกับนายกฯ และคณะรัฐมนตรีหน้าเดิม ๆ

รัฐมนตรีแต่ละท่านก็มาจากนายกฯ ที่แต่งตั้งและให้รัฐมนตรีตั้งพรรรคการเมือง โดยใช้ชื่อตามนโยบาย ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็กลับมาเป็นแคนดิเดต
ซื้อเสียง เติมเงินในบัตรคนจน
“ก่อนเลือกตั้งไม่นาน ก็ดำเนินการที่ผมเรียกว่า เป็นการซื้อเสียงด้วยซ้ำไป โดยอนุมัติงบประมาณกลาง ใส่ในบัตรคนจนหลายครั้ง รวมทั้งโอนงบฯ จำนวนหนึ่งให้ อสม. เพียง 2 วันก่อนการเลือกตั้ง” นายสมพงษ์อภิปราย
รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มคุณสมบัติรัฐมนตรีอย่างเข้มข้น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่รัฐบาลนี้มีคณะรัฐมนตรีนี้หลายคนที่มีคดีความผิดติดตัว ทั้งที่มีโทษถึงประหารชีวิต และคดียาเสพติด
มีการแก้ต่างว่า ความผิดดังกล่าวเกิดในต่างประเทศ แต่ลืมคิดไปว่าความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ห้ามไม่ให้ผู้ที่มีคดียาเสพติดเล่นการเมืองตลอดชีวิต
ตั้งรัฐบาล มีรัฐมนตรีเป็นนอมินี
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายเพิ่มเติมว่า นายกฯ พูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง แต่การตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องแปลก ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเลย เช่น พี่เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ ก็ให้น้องเป็นแทน มันไม่สวยงามและพิลึกยิ่งกว่าการเป็นนอมินี
คุณสมบัตินายกฯ ท่านเป็นหัวหน้า คสช. ไม่เห็นว่าจะใช้ประโยชน์อะไรที่บอกว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมีเงินเดือนและมีคำสั่งออกมามากมาย หากผู้ไม่ปฏิบัติตามก็มีความผิดตามกฎหมาย
ต่อมานายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.พลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงการอภิปรายคุณสมบัตินายกฯ ระบุว่า เป็นเรื่องซ้ำซากและผิดข้อบังคับข้อ 43
จวกนโยบายเศรษฐกิจเหลว
จากนั้น นายสมพงษ์อภิปรายต่อว่า นโยบายความล้มเหลว 3-4 ข้อ คือ ล้มเหลวปัญหาเศรษฐกิจ รวยกระจุกจนกระจาย พี่น้องหาเช้ากินค่ำมีความลำบาก ส่วนการขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี พร้อมฝากถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นประวัติการณ์ เพราะเศรษฐกิจไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่องจนอยู่ลำดับท้ายๆ ของอาเซียน โดยหนังสือพิมพ์ต่างประเทศขนานนามไทยว่า ผู้ป่วยของเอเชีย

จากนั้น น.ส.ปรีณา ลุกขึ้นประท้วงนายสมพงษ์อีกว่า ขนานนามไทยว่า "ผู้ป่วยของเอเชีย" เป็นการพูดจาเสียดสี แต่ประธานสภาฯ ชี้แจงว่า หากผู้อภิปรายพูดไม่จริงก็ให้แก้ไขได้ ไม่ได้ละเมิดใดใด
จากนั้นจึงให้นายสมพงษ์ ที่อภิปรายต่อว่า เมื่อสินค้าขายไม่ได้ โรงงานอุตสาหกรรมก็หยุดนิ่ง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจเข้ามาลงทุน อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้ผลักดันเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจรากหญ้า จนเกิดความเหลื่อมล้ำมาก โดยปี 2016 คนไทยรวยที่สุด 1% (6.7 หมื่นคน) แต่ปี 2018 กลุ่มดังกล่าวครอบครองทรัพย์สิน 2 ใน 3 ของประเทศ
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาการปฏิรูปการเมือง กรณีใช้ ม.44 ให้นักการเมืองท้องถิ่นยุติการทำหน้าที่ แต่ต่อมาไม่ทราบว่าเจรจาอย่างไร นักการเมืองท้องถิ่นกลับมาทำงานและร่วมขึ้นเวทีหาเสียงของพรรครัฐบาล ส่วนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังไม่มีคำตอบเรื่อง “จ่านิว”

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ฝ่ายค้านคนที่ 2
จากนั้น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.พรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านคนที่ 2 ลุกขึ้นอภิปรายว่า ผมเห็นว่าเป็นนโยบายดังกล่าวเลื่อนลอย จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ พูดเรื่อยเปื่อยไป แม้แต่นายกฯ ที่เป็นคนแถลงนโยบาย ยังรู้สึกว่าไม่อยากจะอ่าน เพราะนโยบายไม่จูงใจให้อ่าน
ขณะที่กองทัพมีการใช้งบประมาณมากเกินขอบเขต โดยต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสม แบ่งบางส่วนมาใช้กับการค้าการลงทุน พร้อมอภิปรายอีก 7 ข้อ เช่น นายกฯ เข้าสู่อำนาจโดยขาดความชอบธรรม เอื้อประโยชน์, ล้มเหลวบริหารเศรษฐกิจ, เมินต่อการปราบปรามทุจริต, บิดเบือนกลไลกฎหมายช่วยพวกพ้อง, โกหกประชาชนและนานาชาติ โดยบอกว่าจะนำเข้าสู่ประชาธิปไตย แต่ขณะนี้เป็นประชาธิปไตยครึ่งเผด็จการ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวต่อว่า นโยบายนี้ยากในการติดตาม ทั้งผู้ปฏิบัติและการตรวจสอบ โดยเฉพาะในภาคประชาชน เป็นนโยบายที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ประชาชนและนักลงทุนเชื่อมั่นที่จะลงทุน เพราะไม่มีเป้าหมายว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ หรือประเมินผลอย่างไร
นโยบายนี้เขียนหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ เพราะไม่ได้กำหนดชัด โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ จะทำอย่างไร และจบเมื่อไหร่
ในหน้า 2 ข้อ 2 ของหนังสือแถลงนโยบาย ระบุว่า จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จุดนี้ผมไม่เชื่อมั่น เพราะคนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต้องไม่เคยทำรัฐประหารและยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ
จากนั้น เวลา 12.38 น. น.ส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงประธานรัฐสภาฯ ว่า ผู้อภิปราย บิดเบือน ซ้ำซาก ทุกคนในสภาฯ มาจากการเลือกตั้งที่ถูกกฎหมายและอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ส.ส.คนดี แต่สัมมนาในรีสอร์ตผิดกฎหมาย
นายวันมูหะมัดนอร์ ไม่ได้ให้ความสนใจกับการประท้วง และอภิปรายต่อว่า หากบอกว่าจะยึดมั่นตามระบอบเผด็จการประชาธิปไตยอย่างที่เคยได้ยินกันมา ผมอาจจะเชื่อมากกว่า
นโยบายในหน้า 4 ข้อ 2.3 ระบุว่า พร้อมส่งเสริมให้นักการเมืองมีคุณภาพ เป็นคนดี และมีคุณธรรม แสดงให้เห็นว่านักการเมืองไม่มีคุณภาพ ผมอยากถามว่า รัฐมนตรี และ ส.ส.พรรคของท่าน ไปสัมมนาในรีสอร์ตที่ผิดกฎหมาย นี่จะเรียกว่ามีคุณภาพได้อย่างไร
วันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า หน้า 7 ระบุว่า การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค ข้อ 5.1.2 กำกับวินัยการเงินการคลัง โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐดูแลอย่างเคร่งครัด ซึ่งบทบาทของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ทราบว่ามีความพร้อม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีวินัยการเงินขนาดมากน้อยเพียงใด เพราะย้อนไปสมัยที่ดูแลสถาบันการเงิน ธนาคารกรุงไทย ได้อนุมัติเงินอย่างผิดกฎหมายเกือบ 1 หมื่นล้าน ซึ่งระบุชัดว่า กรรมการจะอนุมัติเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยมีเสียงคัดค้าน ซึ่งบันทึกการประชุมไม่ได้ระบุว่า ท่านอุตตม คัดค้าน แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่ามีวินัยทางการเงิน ท่านหลุดมาได้ ผมไม่ว่าอะไร แต่ท่านมาดูแลเงินของประเทศ เงินของผมด้วย ผมก็ไม่มั่นใจ