ปทุมธานี "ฆ่าตัวตาย" พุ่ง นักอาชญาวิทยาชี้พฤติกรรมเลียนแบบ

ภูมิภาค
16 ส.ค. 62
12:46
1,418
Logo Thai PBS
ปทุมธานี "ฆ่าตัวตาย" พุ่ง นักอาชญาวิทยาชี้พฤติกรรมเลียนแบบ
เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จ.ปทุมธานี พบสถิติการ "ฆ่าตัวตาย" ถี่ขึ้นจนน่าตกใจ และมีข้อมูลยืนยันว่า 4 ที่ผ่านมามีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น นักอาชญาวิทยา วิเคราะห์ว่าเกิดจาก "พฤติกรรมเลียนแบบ" จนทำให้ผู้ที่มีภาวะจิตใจอ่อนแอทำตาม

วันนี้(16 ส.ค.2562) ทีมข่าวไทยพีบีเอส ไล่เรียงปรากฎการณ์ฆ่าตัวตายใน จ.ปทุมธานี ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.ถึง 13 ส.ค. มีคดีฆ่าตัวตายเกิดขึ้น 3 คดี ใช้วิธีเดียวกันในการทำให้เสียชีวิต 

  • วันที่ 8 ส.ค. – นักศึกษาปริญญาโท นอนเสียชีวิตอยู่ภายในรถยนต์ส่วนตัว
  • วันที่ 10 ส.ค. – แม่ ลูก นอนเสียชีวิตอยู่ภายในรถแท็กซี่
  • วันที่ 13 ส.ค. – พ่อ แม่ ลูก นอนเสียชีวิตอยู่ภายในรถยนต์ส่วนตัว


ปรากฎการณ์ “ฆ่าตัวตาย” ทั้ง 3 คดี เกิดขึ้นที่ อ.ลำลูกกา และ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี  ผู้เสียชีวิตใช้รูปแบบวิธีการทำให้ตายเหมือนกัน หากดูวันและเวลาจะเห็นความถี่ของการตาย คือ ห่างกันเพียง 2-3 วัน อยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน คือ เหตุเริ่มเกิดขึ้นตอนกลางคืน มาพบศพตอนกลางวัน เมื่อสอบปากคำผู้เห็นเหตุการณ์ ญาติ ส่วนใหญ่ไม่นึกสงสัยว่า คนที่ขับรถออกไปนอกบ้าน นั่งหรือนอนอยู่ในรถจะคิดฆ่าตัวตาย แต่กลับคิดว่า เป็นการนอนหลับชั่วครู่ หรือ พักเครื่องรถยนต์ระหว่างทางก่อนเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง

ประเด็น “ฆ่าตัวตาย” ที่เกิดขึ้นถี่ช่วงต้นเดือน ส.ค. นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง แพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ยอมรับว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาจังหวัดปทุมธานีมีแนวโน้มสูงขึ้นจริง กลุ่มคนที่คิดฆ่าตัวตายส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 26 - 60 ปีขึ้นไป ปัจจัยที่อาจเป็นเหตุให้สถิติฆ่าตัวตายสูงเรื่อยๆ ถูกวิเคราะห์ว่า จ.ปทุมธานี เจริญเติบโตขึ้น เมืองเริ่มขยายตัว ผู้คนมาซื้อที่พักอาศัย หันมาลงทุนทำธุรกิจ หวังได้กำไรและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ขาดทุน ตกงาน มีโรคประจำตัว หรือสิ่งที่กระทบต่อสภาพจิตใจ ทุกอย่างล้วนผูกโยงกับปัญหาทางการเงินและการใช้ชีวิต ยิ่งผู้คนจิตใจอ่อนแอ อาจเป็นเหตุที่ทำหลายคนตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองให้หมดลมหายใจ นายแพทย์สุรินทร์ แนะนำว่า ครอบครัวเป็นยาชูกำลังใจดีที่สุด 

แนวโน้ม "ฆ่าตัวตาย" จ.ปทุมธานี ย้อนหลัง 3-4 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่เชื่อว่าไม่ถึงระดับประเทศ

สถิติการ “ฆ่าตัวตาย” ใน จ.ปทุมธานี 3-4 ปีที่ผ่านมา

  • ปี 2559 มีผู้เสียชีวิต 30 คน
  • ปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 36 คน
  • ปี 2561 มีผู้เสียชีวิต 57 คน
  • ปี 2562 (ม.ค.–ส.ค.) มีผู้เสียชีวิต 37 คน

หากเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต จ.ปทุมธานี ยังไม่ติดอันดับ 10 จังหวัดที่พบว่าผู้คนฆ่าตัวตายมากที่สุด เพราะ ส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคเหนือ ภาตตะวันออก และภาคใต้ ได้แก่ ตาก อุตรดิตถ์ สระแก้ว เชียงใหม่ ลำปาง พัทลุง เชียงราย น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน (อ่านเพิ่มเติม : เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต)

 

“ฆ่าตัวตาย” เหมือน “หนังฉายซ้ำ” เสี่ยง พฤติกรรมเลียนแบบ

รศ.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นถี่ในจังหวัดปทุมธานี นอกจากภาวะจิตใจ สุขภาพของคนที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ อีกปัจจัยอาจเป็นเพราะ “พฤติกรรมเลียนแบบ” หรือ Copycat Suicide หากผู้คนรับรู้ผ่านสื่อ เรื่องวิธีการ อุปกรณ์ที่ใช้ทำให้ตายได้บ่อยๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความสูญเสีย ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จึงมีคำแนะนำให้ใช้วิจารณญาณในการนำเสนอ

ยกตัวอย่างเช่น ในต่างประเทศจะมีกลุ่มหรือบุคคลชื่นชอบคนมีชื่อเสียง เวลาปรากฎเป็นข่าวจะพบว่าพวกเขาใช้วิธีทำร้ายตัวเองแบบคนดัง หรือ เลือกวิธีที่ถูกนำเสนอซ้ำบ่อยครั้ง ขณะที่เมืองไทยลองสังเกตุข่าวฆ่าตัวตายจะเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะ หายไปแล้วมาใหม่ อย่างเดือนสิงหาคมนี้เกิดขึ้นเฉพาะในจังหวัดปทุมธานีมากกว่า 3 คดีที่ปรากฎเป็นข่าวและยังมีอีกหลายคดีที่ไม่ปรากฎเป็นข่าว 

 

 

วิธีการรมควันฆ่าตัวตาย น่าเป็นห่วงว่ามีพฤติกรรมเลียนแบบมากขึ้น คนที่ฆ่าตัวตายแบบนี้ เชื่อว่าเป็นวิธีการเจ็บปวดน้อยที่สุด น่ากลัวน้อยที่สุด แต่รูปแบบการฆ่าตัวตายเหล่านี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา อยากให้รู้ว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ 

การนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคม กรณีล่าสุด “พ่อ แม่ ลูก” นอนเสียชีวิตในรถยนต์ มีข้อเสนอจาก รศ.ดร.กฤษณพงค์ เรื่องการนำเสนอให้รัดกุมมากที่สุด เช่น อาจจะบอกว่า พบรถยนต์จอดอยู่ริมถนน ภายในมีผู้เสียชีวิต 3 คน สันนิษฐานว่าเกิดจากฆ่าตัวตาย และนำตัวส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ชันสูตรศพ เพื่อตัดตอนพฤติกรรมเลียนแบบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งดูได้จากความถี่ของข่าวฆ่าตัวตายด้วยวิธีและรูปแบบเดียวกันใน จ.ปทุมธานี

หลักพระพุทธศาสนาบอกว่า การฆ่าตัวตายจะต้องตกนรกและจะเป็นแบบนี้อีกหลายร้อยชาติ เราต้องมองปัญหาเชิงบวกและคิดว่าทุกสิ่งมีทางออก

จ.ปทุมธานี มีประชากร 1 ล้าน 2 แสนคน สาธารณสุขจังหวัด เตรียมส่งนักจิตวิทยา อาสาสมัครชุมชน ลงพื้นที่คัดกรองสุขภาพจิตบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อแนะวิธีเลี่ยงความทุกข์ และปรับความคิดว่า "การฆ่าตัวตาย" ไม่ใช่ทางออกของชีวิต ส่วนเรื่องการเปิดกว้าง "ศูนย์การุณยฆาต" ในเมืองไทยให้เหมือนต่างประเทศ นักอาชญาวิทยา มองว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในบ้านเรา ต้องศึกษาหลักกฎหมาย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในรอบคอบ เพราะ หากมีการผลักดันให้เกิดขึ้นอาจกระทบต่อครอบครัวที่ยังต้องใช้ชีวิตต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง