กติกาใหม่! ห้ามปลูกพืชเชิงเดี่ยวในที่ดินทำกิน คทช.

สิ่งแวดล้อม
16 ส.ค. 62
13:32
1,651
Logo Thai PBS
กติกาใหม่! ห้ามปลูกพืชเชิงเดี่ยวในที่ดินทำกิน คทช.
กรมป่าไม้ นำร่องปลูกฟื้นฟูป่าแนวใหม่ใน 13 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเขาหัวโล้น 1.5 ล้านไร่ นำร่องเขตที่ดินทำกินของคทช.จำนวนกว่า 3 แสนไร่ต้องปลูกตามแนวเขตโดยรอบห้ามตัดเด็ดขาด เลิกพืชเชิงเดียว เมินกติกาหมดสิทธิ์

วันนี้ (16 ส.ค.2562) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ ได้กำหนดแนว ทางการปฏิบัติงานการปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยได้สำรวจรังวัดแปลงที่ดินแล้วเพื่อนำมาปลูกฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกป่าแนวใหม่ 13 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือที่มีเขาหัวโล้น รวมพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ จากพื้นที่แก้ปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 30 มิ.ย.2541 รวม 1.5 ล้านไร่ โดยส่วนแรกจะฟื้นฟูพื้นที่ คทช. ลุ่มน้ำชั้น 1,2 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนจะได้รับการรับรองสิทธิ์ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน และต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกรมป่าไม้ 

ทั้งนี้จะส่งเสริมปลูกป่า 3 อย่าง ร้อยละ 20 ของพื้นที่เป็นพื้นที่ปลูกป่านำร่อง 306,017 ไร่ คือ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ น่าน แพร่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย โดยการสนับสนุนให้ประชาชนที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าว

จะนำร่องโครงการในพื้นที่ อ.นาแห้ว จ.เลย เน้นปลูกไม้โครงสร้างที่เป็นไม้ประจำถิ่นไม้ยืน ต้น เช่น สัก ประดู่ ด้วยการปลูกตามแนวเขตโดยรอบห้ามตัดเด็ดขาด เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำต้องช่วยดูแล หากตายต้องปลูกทดแทนต้นเดิมทันที

กติกาใหม่ ปลูกป่าในที่ดินทำกิน-ห้ามพืชเชิงเดียว

นายอรรถพล กล่าวว่า กรมป่าไม้จะสนับสนุนกล้าไม้พันธุ์ดีให้ประชาชนในพื้นที่นำไปปลูกรวมกว่า 5-6 ล้านกล้า แจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่โครงการ คทช. 25,283 ไร่ ใน 13 จังหวัดเป้าหมาย
โดยให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ปลูกและดูแลรักษา และกรมป่าไม้ จะเป็นผู้กำหนดแนวทาง โดยในสัดส่วนพื้นที่ 1 ไร่ ต้องปลูกต้นไม้จำนวน 200 ต้น แบ่งเป็นไม้โครงสร้างหลักไม้ประจำถิ่นไม้ยืนต้น อาทิ ยางนา สัก ประดู่ พะยูง จำนวน 100 ต้น ไม้โครงสร้างรองซึ่งเป็นไม้ปลูกไว้ สำหรับทานใบ ทานผล เช่น ขี้เหล็ก สะตอ ฯลฯ จำนวน 50 ต้น และปลูกพืชคลุมดินซึ่งเป็นพืชที่ไม่ต้องการแสงมากให้ผลผลิตเร็ว จำพวก กาแฟ หัวข่า ชา เป็นต้น

โดยที่ผู้ดูแลสามารถเก็บผลผลิตนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ พื้นที่ที่ได้รับการปลูกฟื้นฟู ห้ามไม้่ให้มีการตัดไม้ทุกชนิดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากต้องการเก็บพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นพื้นที่ป่าต่อไป  

ตามระเบียบใน คทช.ต้องการปัญหาคนที่อยู่ในป่าในพื้นที่กว่า 500,000 ไร่ในลุ่มน้ำ 3, 4, 5 ซึ่งหลังจัดคนลงพื้นที่แล้ว มีการส่งเสริมอาชีพ ต้องยังมีกระบวนการส่งเสริมปลูกต่นไม้ และปรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้องอยู่ในกติกา เพราะต้องให้อยู่และทำกินให้ได้

เปิดพื้นที่ทำกินคทช.ในเขตป่าสงวนกว่า 5 แสนไร่ 

สำหรับผลการจัดหาที่ดินทำกินของคทช.ให้ทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีการเสนอพื้นที่เป้าหมายแล้ว 253 พื้นที่ใน 61 จังหวัดเนื้อที่ 1,214,571 ไร่ มีการอนุญาตให้จังหวัดท้องที่ดำเนินการทำกินให้ชุมชนแล้ว 122 พื้นที่ 55 จังหวัด 591,209 ไร่

ทั้งนี้โครงการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2 มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 13 จังหวัด เนื้อที่รวม 1.5 ล้านไร่ โยจะส่งเสริมให้ปลูกป่า 3 อย่างร้อยละ 20% ของพื้นที่รวม 306,017 ไร่ ดังนี้
เชียงใหม่ 20,293 ไร่ ลำพูน 80 ไร่ แม่ฮ่องสอน 15,043 ไร่ เชียงราย 46,762 ไร่  พะเยา 2,707
ลำปาง 8,037 ไร่ อุตรดิตถ์ 9,646 ไร่  น่าน 52,472 ไร่  แพร่ 10,152 ไร่ ตาก 20,889 ไร่ 
พิษณุโลก 6,095 ไร่ เพชรบูรณ์ 38,106 ไร่ เลย 75,734 ไร่ 

นอกจากนี้ ในส่วนของการป้องกันรักษาป่า กรมป่าไม้ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 ผลการดำเนินการจำนวน 532 คดี เป็นพื้นที่ความเสียหาย 11,120.53 ไร่ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2561 ผลการดำเนินการจำนวน 1,488 คดี เป็นพื้นที่ความเสียหาย 32,637.41 ไร่ พบว่ามีจำนวนที่ลดลง อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง