วันนี้ (24 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สพ.ญ.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.), นายสัตวแพทย์ บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ร่วมดูแลลูกพะยูน "มาเรียม" และ "ยามีล" ได้ร่วมกันทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้กับลูกพะยูน "มาเรียม" และลูกพะยูน "ยามีล" รวมถึงพะยูนตัวอื่นๆ ที่ตายในท้องทะเลไทย ณ ศาลาพระยานิกรบดินทร วัดกัลยาณมิตร
การทำบุญให้กับพะยูนที่ตายไปในครั้งนี้ เป็นการระลึกถึงลูกพะยูน "มาเรียม" ที่เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ทะเล และลดการใช้และลดทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ท้องทะเล หลังลูกพะยูนมาเรียมได้ตายลง เมื่อวันที่ 17 ส.ค. เพราะกินพลาสติกที่ปะปนอยู่ในแหล่งหญ้าทะเล ขณะที่ลูกพะยูน "ยามีล" ตายเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทีมสัตวแพทย์ได้พยายามรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่อาจช่วยชีวิตลูกพะยูนทั้ง 2 ตัวไว้ได้
เจ้าหน้าที่ได้นำซากลูกพะยูน "มาเรียม" มาสตัฟฟ์ไว้ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ให้มนุษย์เห็นถึงโทษและอันตรายของขยะทะเล ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตสัตว์ทะเลที่ต้องตายเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เช่นเดียวกับลูกพะยูน "ยามีล" ก็จะนำมาสตัฟฟ์ไว้ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านขยะทะเลและขยะพลาสติกเช่นกัน ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงการหยุดทิ้งขยะลงแม่น้ำและลำคลอง ซึ่งเป็นต้นเหตุของขยะที่ไหลลงสู่ทะเล
ทั้งนี้ ในปี 2562 ประเทศไทยสูญเสียพะยูนแล้วกว่า 17 ตัว ภายในเวลาไม่ถึง 8 เดือน โดยเฉพาะที่ทะเลตรัง มีพะยูนตายมากที่สุดถึง 6 ตัว ถือเป็นอัตราการตายที่สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา ที่มีอัตราการเกยตื้นตายประมาณ 10-13 ตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เศร้า! มาเรียมลูกพะยูนขวัญใจตาย “ช็อก-เจอถุงพลาสติก”
เปิดขั้นตอนสตัฟฟ์ "มาเรียม" พะยูนตัวแรก
"ยามีล” ลูกพะยูนตายแล้วช็อก-หัวใจหยุดเต้นหลังดูแล 53 วัน
ไทม์ไลน์ พะยูนตายปี 62 ทะเลกระบี่-ตรัง