จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าท้องที่หนึ่งมีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายกเทศมนตรี อยู่ร่วมกัน
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะฝ่ายปกครองตามสายการบังคับบัญชาของราชการ จุดเด่น คือใกล้ชิดกับชาวบ้าน สามารถรับแจ้งความเดือดร้อน ไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาในพื้นที่ เป็นองคาพยพสำคัญในกลไกของรัฐ
ผู้บริหารเทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จุดเด่น คือจัดเก็บรายได้ได้เอง บริหารจัดการพื้นที่เองได้ และที่สำคัญมาจากการเลือกตั้งตามวาระ
พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 กำหนดตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน และหนึ่งในการสิ้นสภาพคือ เมื่อมีอายุ 60 ปี

แม้มาตรา 3 วรรค 2 จะระบุว่าการยกเลิกตำแหน่งจะกระทำมิได้ แต่กว่า 700 ชีวิตในสถาบันนี้ สิ้นสภาพไปแล้วด้วยกฎหมายอีกฉบับ
นั่นคือพระราชบัญญัติเทศบาล ถ้ากระทรวงมหาดไทยยกระดับท้องถิ่นใดเป็นเทศบาล ห้ามใช้กฎหมายลักษณะการปกครองท้องที่ หรือยุบเลิกตำแหน่ง




มาตรา 4, 12 และ 48 เตวีสติ กลายเป็นตัวร้ายในสายตาของสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย 1 สิงหาคม 2562 นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้คงกำนันและผู้ใหญ่บ้านไว้ในเทศบาล และยกเลิก 3 มาตรานี้ พร้อมระดมผู้นำชุมชนที่เห็นด้วยมาแสดงจุดยืนร่วมกัน
นายยงยศให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่ง ถึงพระราชบัญญัติเทศบาลว่า “สร้างความเสียหายต่อสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน"

ยังไม่ทันพ้นเดือนดูเหมือนจะมีข่าวดี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประชุมร่วมผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุ นายกรัฐมนตรีรับหลักการแก้กฎหมายปกครองท้องถิ่นตามข้อเรียกร้อง แต่มีเงื่อนไขเรื่องการปราบปรามยาเสพติด
“ปัญหายาเสพติด ไม่มีทางที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไม่รู้ ท่านไปแก้ปัญหาให้ได้" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

แต่เหตุผลนี้เพียงพอรับฟังและสอดคล้องกับแนวคิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือไม่
เมื่อฝ่ายบริหารของเทศบาลทุกประเภทมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน และวาระดำรงตำแหน่งสั้นกว่า เมื่อหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อย แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เมื่อไม่ยุบตำแหน่ง ย่อมต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น
การกระจายอำนาจเคยเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง อย่างพรรคอนาคตใหม่ ประกาศลดทอนอำนาจของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะการอนุมัติอนุญาตต่างๆ หรือพรรคประชาธิปัตย์ที่ย้ำหลักการนี้ เพราะเชื่อว่าวิธีจากส่วนกลาง ไม่สามารถแก้ไขทุกปัญหาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกัน และแม้จะเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลพลเรือน แต่ภาพลักษณ์ “รัฐรวมศูนย์อำนาจ” แทบไม่ลดลง นับจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจ และสถาปนา คสช.เมื่อปี 2557
นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เชื่อว่าการกระจายอำนาจและให้สิทธิ์ประชาชนในพื้นที่ได้ตัดสินใจเอง จะลดการผูกขาดจากนักการเมืองท้องถิ่น คนหน้าใหม่มีโอกาส หากขั้วอำนาจเก่าไม่สามารถทำงานให้ชาวบ้านพอใจได้ ขณะที่ส่วนกลางควรสนับสนุนการทำงานของส่วนท้องถิ่น ทั้งอำนาจและงบประมาณ
แต่ไม่ว่าในมุมใดฝ่ายใด หรือจะแก้กฎหมายได้หรือไม่ ก็ยากจะปฏิเสธเหตุผลทางการเมือง หากพวกเขาเหล่านั้น คือ เครือญาติ เครือข่าย หัวคะแนน หรือผู้ชี้นำความคิด ซึ่งเปลี่ยนเป็นคะแนนให้กับตัวเองและพวกพ้อง หรือทำลายล้างความนิยมของคู่แข่งต่างขั้วต่างฝ่ายได้
งบประมาณและหน้าที่ทับซ้อน อาจไม่ใช่ปัญหาหากมองว่ามุมการเมืองนี้ แต่ผู้ได้รับผลกระทบคงไม่พ้นประชาชน ผู้เสียภาษี และต้องรับผลจากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย
จตุรงค์ แสงโชติกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส
แท็กที่เกี่ยวข้อง: