"ฝุ่นหลงฤดู" ความท้าทายรัฐบาลก่อนวิกฤตฝุ่นควัน

Logo Thai PBS
"ฝุ่นหลงฤดู" ความท้าทายรัฐบาลก่อนวิกฤตฝุ่นควัน
แม้โฆษกรัฐบาลระบุว่า "ฝุ่น PM2.5" ขณะนี้คือ "ฝุ่นหลงฤดู" ที่มาเร็วกว่าปกติจากสภาพทางอุตุนิยมวิทยา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมภาคการเกษตรที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ตามปฏิทินการผลิต เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นหลัก ซึ่งท้าทายมาตรการที่ภาครัฐวางไว้เมื่อเกิดวิกฤตรุนแรง


ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ สร้างความตื่นตัวให้ประชาชนหาวิธีป้องกันตัวเองจากมลพิษทางอากาศ แต่นี่เป็นเพียง "ฝุ่นจิ๋วหลงฤดู" ที่ท้าทายต่อมาตรการของภาครัฐ ที่วางไว้เพื่อรับมือกับวิกฤตฝุ่นที่จะรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า เช่น มาตรการลดเผาในพื้นที่เกษตร ที่สามารถรู้ล่วงหน้าตามรอบปฏิทินการเพาะปลูก ว่าคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน เพียงพอหรือไม่

แม้ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด "ฝุ่นจิ๋วหลงฤดู" คือ สภาพอุตุนิยมวิทยา ความกดอากาศ และเกิดการสะสมของฝุ่นละออง ส่งผลให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ทั้ง 4 แหล่งยังคงเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ในแต่ละปี มีฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาในที่โล่งมากที่สุดถึง 209,937 ตัน/ปี รองลงมา คือ ภาคอุตสาหกรรม 65,140 ตัน/ปี การคมนาคมขนส่ง 50,240 ตัน/ปี และสุดท้าย การผลิตไฟฟ้า ปล่อย PM2.5 ราว 31,793 ตัน/ปี ทำให้เห็นว่า "การเผาในที่โล่ง" ยังคงเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญ ซึ่งจะพบว่า มีจุดความร้อน หรือ Hot Spot เกิดขึ้นมากในพื้นที่ภาคกลาง 

ข้อมูลจาก Smoke Watch ระบุว่า เริ่มมีจุดความร้อนเกิดขึ้นในประเทศไทย วันที่ 22 ก.ย. โดยพบเพียง 1 จุด ในพื้นที่รอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ

แต่จะพบว่า มีจุดความร้อนหนาแน่นขึ้นในอีก 2 วันถัดมา โดยพบเพิ่มขึ้น 21 จุด และเพิ่มขึ้นสูงสุด 335 จุด ในวันที่ 28 ก.ย. ก่อนจะลดลงมาเหลือ 131 จุด ในวันที่ 30 ก.ย.

Smoke Watch

Smoke Watch

Smoke Watch

 

Smoke Watch

Smoke Watch

Smoke Watch


เมื่อดูจากจุดความร้อน พบว่า กระจุกตัวหนาแน่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ และชัยนาท ซึ่งหากเทียบรอบการทำนาของเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่นาปรัง ช่วงเวลานี้ คือ ช่วงของการเตรียมพื้นที่นา เพื่อปลูกข้าวรอบใหม่ ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของปีนี้ การเผาตอซังข้าว อาจเป็นวิธีการเตรียมพื้นที่ได้เร็วที่สุด 

ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ Smoke Watch ประเมินจากข้อมูลจุดความร้อนของดาวเทียมระบบ VIIRS ประจำวันที่ 1 ต.ค.2562 ว่าเมื่อลองขยายภาพเข้าไป จะพบว่าจุดความร้อนที่พบ เป็นการเผาในพื้นที่โล่ง 

FB : นิอร สิริมงคล

FB : นิอร สิริมงคล

FB : นิอร สิริมงคล


เมื่อประกอบกับความกดอากาศจากประเทศจีนอ่อนกำลังลงปกคลุมถึงตอนกลางของประเทศไทย อากาศนิ่ง และจมตัว จึงทำให้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคกลางเพิ่มสูงขึ้น แตะระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่

ความท้าทายการจัดการวิกฤตฝุ่น ภาครัฐ

ต้นปี 2562 หลังวิกฤตฝุ่นพิษปกคลุมหลายพื้นที่ประเทศไทย โดยเฉพาะภาคกลางและภาคเหนือ การลด Hot Spot จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่หลายภาคส่วนพยายามหาวิธีจัดการ ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร

โดยเฉพาะมาตรการในพื้นที่การเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนด 3 โครงการสำคัญ คือ 1) ลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า 2) ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร 26 จังหวัด และ 3) สร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สำหรับ "โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร" ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ในพื้นที่ 26 จังหวัด เฉพาะปี 2562 ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ที่มีการเผาสูง 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และจังหวัดอุดรธานี

กลไกเข้มงวด แต่อาจใช้ไม่ได้จริง

ในส่วนของกลไกสั่งการภายใต้ "โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร" คือ จะสั่งการไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด ให้ดำเนินการควบคุม กำกับดูแล และเข้มงวด ไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่เกษตรที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด

ขณะที่การดำเนินการร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา มีการสร้างโมเดลพยากรณ์สภาพอากาศ ล่วงหน้าทุก 7 วัน ในรูปแบบแผนที่อินโฟกราฟิก เพื่อแจ้งเตือนการหยุดเผาในไร่นาของพื้นที่เสี่ยงต่อการสะสมฝุ่นละออง การป้องกันและเฝ้าระวังการเผาซากพืชและเศษวัสดุการเกษตร รวมถึงการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเกษตรกร

แต่ตัวเลขจุดความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นมากถึง 335 จุดในช่วงนี้ หากเทียบกับวิกฤตฝุ่นควันช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถือได้ว่ายังอยู่ในระดับน้อยมาก ขณะที่พื้นที่ที่เกิดจุดความร้อน ก็ยังจำกัดอยู่แค่พื้นที่การเกษตรในไม่กี่จังหวัด


นี่ทำให้น่าสังเกตว่า มาตรการลดจุดความร้อน เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดจากการเผาในภาคการเกษตรนั้น สามารถดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่ เพราะหากสามารถดำเนินการได้จริง จุดความร้อนที่เกิดจากการเผาตอซังข้าวในขณะนี้ ก็อาจควบคุม กำกับดูแล หรือเข้มงวดเพื่อให้เกิดขึ้นน้อยกว่านี้ หรือไม่เกิดขึ้นเลย

เพราะเมื่อถึงเวลาวิกฤตฝุ่นควันช่วงปลายปี ที่จะมีพื้นที่การเผาเพิ่มขึ้น ทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร มาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดมานั้น จะสามารถรับมือได้มากน้อยแค่ไหน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

365 วัน "กรุงเทพมหานคร" เมืองในฝุ่น

ครม.เคาะแผนคุม "ฝุ่นพิษ" แบ่ง 4 ระดับความวิกฤต

ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ซื้อรถตัดลดเผาไร่อ้อยแล้ว​ 2,679 ล้านบาท

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง