ชุมชนเมืองพร้อมเลือกผู้ว่าฯ กทม.ที่เปิดการมีส่วนร่วมพัฒนาเมือง

สังคม
28 ต.ค. 62
09:57
695
Logo Thai PBS
ชุมชนเมืองพร้อมเลือกผู้ว่าฯ กทม.ที่เปิดการมีส่วนร่วมพัฒนาเมือง
อดีตชาวชุมชน "ป้อมมหากาฬ" สะท้อนปีครึ่งถูกไล่รื้อ ยังไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ชาวชุมชนเมืองเก่าพร้อมเลือก ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ หากรับฟังเสียงคนจน นักวิชาการชี้ ชนชั้นกลางต้องมีส่วนร่วมและยอมรับโครงการพัฒนาเมือง ที่มาจากการมีส่วนร่วมเท่านั้น

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "Urban jam" ภายใต้สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) พร้อมหน่วยงานภาคประชาสังคม จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “เมืองเถียงได้” ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อหาทางออกให้กับอนาคตชุมชนเมืองเก่า ใน กทม. ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง แทนการถูกไล่รื้อ ถอนรากเหง้าทางประวัติศาตร์ โดยมีตัวแทนจากชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนวัดแคนางเลิ้ง ชุมชนคลองเตย และนักวิชาการเข้าร่วม

นายธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ระบุว่า กว่าหนึ่งปีครึ่ง ที่คนในชุมชนต้องแยกกันไปหาที่อยู่ใหม่ คือ ที่การประปานครหลวงเก่า แยกแม้นศรี และบางส่วนที่ไปอาศัยกับพี่น้องเครือข่าย ชุมชนรถไฟสายสีแดง จนถึงวันนี้ ชีวิตยังไม่มั่นคง เพราะบางคนต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ แม้จะอยู่ในวัย 60 ปี ความตั้งใจในเวลานี้ คือ การฝังรกรากในที่ดินใหม่ เริ่มต้นในการดำเนินวิถีชีวิตแม้จะขัดกับอาชีพดั้งเดิมที่เคยทำมา


อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ยังระบุอีกว่า สำหรับ 26 ปีของการต่อสู้ ถือว่าเราได้ทำหน้าที่ของพลเมืองถึงที่สุดแล้ว และจะเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนเก่าในกรุงเทพฯ อีกกว่า 15 แห่ง และหน่วยงานราชการ ให้ตระหนักถึงการที่ต้องสูญเสียชุมชนที่มีอัตลักษณ์ เพื่อแลกกับสวนสาธารณะที่ไร้ผู้คน ตอบโจทย์อะไรกับการออกแบบเมืองบ้าง

ในฐานะหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า การพัฒนาเมือง ควรนำมูลค่าชุมชนเดิม ไปเพิ่มมูลค่า ไม่ใช่การขับไล่คนออกไป เราต้องการผู้ว่าฯ กทม. ที่เคารพ และเข้าถึงความหลากหลายของตรรกะ ชาติพันธุ์ ให้อำนาจในการบริหารจัดการกลับมาสู่มือของประชาชน

ด้านตัวแทนชุมชนคลองเตย ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตย ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ระบุว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย มีการจัดทำโครงการสมาร์ท คอมมูนิตี้ เพื่อรองรับ 13,000 ครอบครัว แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะก่อนหน้านี้การท่าเรือฯ เคยสร้างแฟลตให้ชาวชุมชนคลองเตยไปอยู่ แต่เข้าไปแล้วไม่มีใครอยู่ได้ รวมถึงการย้ายให้ไปอาศัยอยู่ย่านหนองจอก ก็ขัดกับวีถีชีวิต และการประกอบอาชีพดั้งเดิม จึงขอให้มีการทบทวนโครงการ และร่วมกับชาวบ้านจัดทำชุดข้อมูล กระบวนการทำงาน และออกแบบอาคาร เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทั้ง 2 ฝ่าย

คนมองว่าสมาร์ท คอมมูนิตี้ จะเพิ่มคุณภาพชีวิต จริง ๆ ไม่ใช่เลย เรามีทั้งแรงงานที่กำลังสูงอายุ บุตรหลานที่จะต้องย้ายโรงเรียน การประกอบอาชีพที่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ อย่างนี้จะถามหาคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างไร

 

"คนชั้นกลาง" ถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันชุมชนเมือง

รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า พัฒนาการของการออกแบบเมืองที่ผ่านมาของรัฐบาล จากในอดีตที่ใช้กฎหมาย ใช้กำลังบังคับเข้าไล่รื้อชุมชน อ้างว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม หรือ การที่พยายามดึงคนชนชั้นกลางเข้ามามีส่วนในการกดดัน ด้วยการอ้างว่าจะสร้างพื้นที่พักผ่อน ออกกำลังกาย แสดงให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าไม่ต้องการให้มีชุมชนสลัมหรือแออัดอยู่ในพื้นที่ ซึ่งชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นตัวอย่างของสวนสาธารณะ ที่ไม่ตอบโจทย์ต่อวีถีของคนเมือง

โดยเฉพาะคนชนชั้นกลาง อยากให้ทำความเข้าใจกับการที่รัฐจะเสนอพื้นที่ใช้ประโยชน์ ว่าโครงการนั้นเกิดขึ้นอย่างมีส่วนร่วมจริงหรือเปล่า ไม่ใช้การประชาพิจารตามกฎหมาย เพื่อทำให้คนเมืองเก่าออกไปอย่างแยบยล อยากให้คนชนชั้นกลางลุกขึ้นมาปกป้องคนตัวเล็กตัวน้อย

สำหรับเวทีเสวนาสาธารณะ "เมืองเถียงได้" จะเป็นจุดตั้งต้นสำหรับการเปิดเวทีเสวนาและพูดคุยถึงปัญหาการพัฒนาเมือง เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูล เสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อชิงเก้าอี้ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทางออกปฏิบัติการ "ไล่รื้อชุมชนเมือง"103 แห่ง

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง