คู่อริยกพวกตีกันในห้องฉุกเฉิน รพ.อ่างทอง

ภูมิภาค
10 พ.ย. 62
09:31
1,385
Logo Thai PBS
คู่อริยกพวกตีกันในห้องฉุกเฉิน รพ.อ่างทอง
เกิดเหตุกลุ่มคู่อริทะเลาะวิวาทกันเป็นครั้งที่ 12 ของปีนี้ หลังกลุ่มวัยรุ่นเข้าไปรุมทำร้ายคู่อริถึงห้องฉุกเฉินใน รพ.อ่างทอง จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาห้าม 1 ชั่วโมงและไม่กล้าให้วัยรุ่นพักที่โรงพยาบาลเพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา ( 9 พ.ย.2562) เกิดเหตุวัยรุ่น 2 กลุ่ม ยกพวกตีกันกลางโรงพยาบาลอ่างทอง ซึ่งจุดที่เกิดเหตุเป็นห้องฉุกเฉินของโรพยาบาลแม้เจ้าหน้าที่ตำรวจและ รปภ.กว่า 10 คน พยายามห้ามปรามแต่ไม่สำเร็จจนตำรวจต้องเรียกกำลังเสริมเข้ามาห้ามวัยรุ่นทั้ง 2 กลุ่ม มีทั้งผู้ชายและผู้หญิงทั้ง 2 ฝ่ายต่างตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ด้วยความไม่พอใจและใช้เวลานานถึง 1 ชั่วโมงในการระงับเหตุ

จุดเริ่มต้นของคดีนี้เริ่มจากวัยรุ่น 2 กลุ่ม เข้าไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง กลางเมืองอ่างทอง เมื่อผับปิดได้เกิดกระทบกระทั่งกับวัยรุ่นอีกกลุ่ม และออกมาชกต่อยกันที่นอกร้านแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ คือ นายสุรเชษ พูลธนาคม อายุ 28 ปี

เมื่อนายสุรเชษได้รับบาดเจ็บโดยศีรษะแตกหลายจุด เพื่อนของนายสุรเชษ จึงพามารักษาตัวที่โรงพยาบาลอ่างทอง ระหว่างที่พยาบาลทำแผลในห้องฉุกเฉิน ปรากฎว่า มีวัยรุ่นคู่อริที่ชกต่อยกันที่ผับตามมาทำร้ายถึงห้องฉุกเฉิน โดยนายสุรเชษ ยอมรับว่าเป็นคู่อริที่ตามมาจากผับจริงและเมื่อถูกตามมาทำร้ายจึงต้องสู้ก่อนที่เพื่อนจะตามมาช่วยภายหลัง

ทั้งนี้ น.ส.ฉลวย บุญประเสริญ ญาติของนายสุรเชษเผยว่า หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่ยอมให้นายสุรเชษพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยและกลัวว่าจะถูกทำร้ายอีกจึงให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งญาติก็เป็นห่วงเพราะหัวแตกหลายจุด เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบว่ากลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุอยู่ในพื้นที่ ต.ศาลาแดง และชุดชนโพธิ์ล้อมตาล ซึ่งจะติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป

สถิติสำนักงานตำรวจแห่งชาติย้อนหลัง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2562 เกิดเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล 51 ครั้ง เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 13 คน ส่วนประชาชนเสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บ 43 คน ยอดสูงสุดคือปี 2561 รวม 17 ครั้ง รองลงมา คือ ปี 2562 จำนวน 11 ครั้ง (รวมครั้งนี้เป็น 12 ครั้ง)

ฝั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการแก้ไขชัดเจนส่วนใหญ่แก้ปัญหาเฉพาะหน้ารายกรณี เช่น แยกคู่อริอยู่คนละโรงพยาบาล

ขณะที่ แพทยสภาเสนอให้มีนโยบายห้องฉุกเฉินปลอดคนเมาเพราะเชื่อว่าสาเหตุของความรุนแรงมาจากคนเมาซึ่งข้อมูลนี้มีการสำรวจเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยแพทย์และพยาบาลรวมถึงเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ร้อยละ 96 บอกว่าเหล้าเป็นสาเหตุความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน และร้อยละ 97 ส่งเสริมให้มีนโยบายทำให้ห้องฉุกเฉินปลอดคนเมา 

กระบวนการยุติธรรม นายโกศลวัฒน์อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (20 พ.ค.2562)บทลงโทษสำหรับคนที่ก่อเหตุวิวาทในโรงพยาบาลโทษหนัก 1.คือการบุกรุก โทษจำคุก 5 ปี 2.เจตนาทำร้ายร่างกายแต่ไม่มีเจตนาฆ่า โทษจำคุก3-15 ปี และ 3. หากเข้าไปทำร้ายร่างกายระหว่างเจ้าหน้าที่กู้ชีพเข้าข่ายเจตนาฆ่ามีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง