พิษ "เอลนีโญ" กระทบแม่น้ำโขงเสี่ยงแล้ง

ภัยพิบัติ
14 พ.ย. 62
17:45
1,752
Logo Thai PBS
พิษ "เอลนีโญ" กระทบแม่น้ำโขงเสี่ยงแล้ง
พล.อ.ประวิตร สั่งเข้มทุกหน่วยงานเฝ้าระวังสถานการณ์แล้ง วางมาตรการด่วน หลังปรากฎการณ์เอลนีโญกระทบฝนตกน้อยในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เสี่ยงเผชิญภัยแล้ง สอดคล้องกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ฝนเดือนธ.ค.-ม.ค.63 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 50% กระทบ 10 เขื่อนใหญ่

วันนี้ (14 พ.ย.2562) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งที่ 2/2562 และประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เพื่อติดตามมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/63 ตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ต.ค.

จากการวิเคราะห์ติดตามสภาพอากาศ และคาดการณ์ปริมาณฝนในเดือนพ.ย.นี้ ปริมาณฝนรวมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติ 30% ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ 20% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ

ฝนเฉลี่ยธ.ค.-ม.ค.63 ต่ำกว่าค่าปกติ 50%

ส่วนเดือนธ.ค.นี้ ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติ 50% ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ 20% และเดือนม.ค.2563 ปริมาณฝน รวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติ 50% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ

ขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำมีทั้งสิ้น 53,316 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 65 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,768 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 โดยพบว่ามีถึง 10 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% อาทิ เขื่อน ภูมิพล กระเสียว จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางน้ำน้อยจำนวน 74 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือ 28 แห่ง อีสาน 37 แห่ง

จัดสรรน้ำเกินแผน 1,350 ล้าน ลบ.ม.

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ปัจจุบัน พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/63 โดยเฉพาะการป้องกันผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ตามที่การประปาส่วนภูมิภาค ได้สำรวจพื้นที่เสี่ยงไว้ล่วงหน้า แบ่งเป็น ในเขต กปภ. 22 จังหวัด นอกเขต 38 จังหวัด

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรการรองรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องปี 2562 โดยไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศเกินแผน 1,350 ล้าน ลบ.ม.

 

โดยลุ่มน้ำที่จัดสรรน้ำเกินแผน ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่จัดสรรน้ำเกินแผน 495 ล้าน ลบ.ม. ลุ่มน้ำภาคตะวันตกจัดสรรน้ำเกินแผน 579 ล้าน ลบ.ม.และลุ่มน้ำภาคใต้จัดสรรน้ำเกินแผน 549 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปี จากข้อมูลดาวเทียมถึง 7 พ.ย.นี้ พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวนาปี 60.08 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 17.11 ล้านไร่

ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง 1.35 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 1.27 ล้านไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 0.08 ล้านไร่ ขณะที่การประเมินพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2562/63 จากข้อมูลดาวเทียม 7 พ.ย.นี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 21 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 229,803 ไร่

"เอลนีโญ" กระทบน้ำโขง 

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีการติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงที่ลดลงในช่วงฤดูแล้ง โดยสถานการณ์เอลนีโญ จะยังคงมีผลต่อภูมิภาคทำให้ไม่มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง โดยที่ประชุมได้พิจารณาทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ โดยมอบหมาย สทนช.เร่งใช้มาตรการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในการผลักดัน และแก้ปัญหาแม่น้ำโขง แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งในภูมิภาค และมาตรการภายในประเทศ ในระยะเร่งด่วนป้องกันผลกระทบกับวิถีชีวิตประชาชน และการประกอบอาชีพใน 3 ประเด็นหลัก

  • จัดหาแหล่งน้ำสำรองและขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล เพื่อสำรองปริมาณน้ำในการอุปโภค-บริโภค
  • มอบหมายกระทรวงมหาดไทยโดยจังหวัด (ริมแม่น้ำโขง) สร้างการรับรู้ความเข้าใจแนวโน้มสถานการณ์วิกฤติน้ำ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้น้ำภาคการเกษตรและประมงได้รับทราบ
  • มอบหมายกระทรวงคมนาคม กำหนดมาตรการการขนส่ง การคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งมาตรการรองรับการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งโขงด้วย

เลขาธิการสทนช.กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยด้วยว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงการเตรียมการของฝ่ายไทยตามระเบียบปฏิบัติ เรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) โครงการเขื่อนหลวงพระบาง เพื่อเสนอต่อ สปป.ลาว ในการลดหรือบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจจะเกิดขึ้น มีกรอบระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 8 ต.ค.-7 เม.ย.2563

 

สทนช.ตั้งคณะทำงานโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ทั้งด้านอำนวยการและด้านวิชาการ เพื่อวางแผนการชี้แจงข้อมูลสร้างการรับรู้ในพื้นที่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน 3 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดริมน้ำโขง จะเริ่มต้นจัดประชุมชี้แจงครั้งแรกในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งสทนช.จะรวบรวมข้อคิดเห็น  ข้อกังวล จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างรอบด้าน เพื่อลดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกัน ยังให้ความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีทรัพยากรน้ำ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง ซึ่งสทนช.จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณาร่างแถลงการณ์ พร้อมมอบหมายรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบด้านทรัพยากรน้ำ เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีด้านทรัพยากรน้ำ ในวันที่ 9-11 ธ.ค.นี้ที่ประเทศจีน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง