ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผิดที่ต้านคสช.! "ธนาธร" ตอบตรงก่อนคำวินิจฉัยหุ้นสื่อ 20 พ.ย.นี้

การเมือง
18:04
1,448
ผิดที่ต้านคสช.! "ธนาธร" ตอบตรงก่อนคำวินิจฉัยหุ้นสื่อ  20 พ.ย.นี้
"ธนาธร" แถลงปิดคดีหุ้นสื่อกรณี บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยืนยันไม่ได้ทำสื่อแล้ว ตั้งข้อสังเกตความผิดฐานเดียวคือต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พ.ย.นี้

วันนี้ (15 พ.ย.2562) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปิดแถลงปิดคดีความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีการถือหุ้นบริษัทวีลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นเอกสารที่ได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในวันที่ 20 พ.ย.นี้ โดยสาระสำคัญของการแถลงข่าวมี 4 ประเด็น ดังนี้

1. บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัดเป็นสื่อหรือไม่

ประเด็นแรก คือ เรื่องการวินิจฉัยว่าบริษัทใดเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ เรื่องนี้เริ่มต้นจากกรณีที่ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีการเลือกตั้งให้พิจารณาคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่เขต 2 จังหวัดสกลนคร ซึ่งศาลฎีกาไม่ได้ไต่สวนพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงว่า ห้างหุ้นส่วนของนายภูเบศวร์ทำกิจการรับเหมาก่อสร้าง และไม่เคยประกอบกิจการสื่อใดๆ เลย แต่เห็นว่า ดูแค่หนังสือบริคนธ์สนธิของบริษัท ซึ่งระบุวัตถุประสงค์การประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ ก็เพียงพอแล้วที่จะตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของนายภูเบศวร์

เมื่อศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้เช่นนี้ ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ค. 2562 จึงมีการยื่นคำร้องจากหลายภาคส่วนให้พิจารณาสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมถึงของสมาชิกวุฒิสภา รวมกันมากกว่า 100 คน ที่อาจเข้าข่ายถือหุ้นสื่อ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้แล้วจำนวน 32 ราย และไม่รับคำร้อง 9 ราย แต่ไม่สั่งให้ใครยุติการปฏิบัติหน้าที่เลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีแต่เพียงหนังสือบริคนธ์สนธิกับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยว่าถือหุ้นสื่อหรือไม่ ต้องดูเอกสารอื่นประกอบด้วย เช่น ต้องดูงบการเงินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกร้องว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด จึงตัดสินได้ว่าถือหุ้นสื่อหรือไม่ นี่คือจุดต่างระหว่างคำวินิจฉัยของสองศาล

 

ในกรณีของบริษัทวีลัค ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้คือ ณ วันที่ 6 ก.พ.2562 บริษัทวีลัคได้ยุติกิจการไปแล้ว ไม่ได้ผลิตสินค้าและหรือบริการใดๆ แล้ว โดยแต่เดิมบริษัทวีลัคมีผลิตภัณฑ์และบริการอยู่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ผลิตนิตยสารของตัวเองภายใต้ชื่อ WHO? 2.รับจ้างทำนิตยสาร JibJib ให้กับบริษัทนกแอร์ และ3. รับจ้างทำนิตยสาร Wealth ให้กับธนาคารไทยพานิชย์

ทั้งนี้ นิตยสาร Who? ฉบับสุดท้ายคือฉบับเดือนต.ค.2559 Wealth ฉบับสุดท้ายคือฉบับไตรมาสที่ 4 ปี 2559 และ JibJib ฉบับสุดท้ายคือฉบับเดือนธ.ค.ปี 2561 ส่วนพนักงานกองสุดท้ายที่เหลือในบริษัทวีลัคก็ทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 25 พ.ย.2561 หลังปิดต้นฉบับของ JibJib บริษัทวีลัคไม่มีพนักงาน ไม่มีผลิตภัณฑ์ ไม่มีบริการใดอีกแล้ว จะมีรายได้แต่เงินรับค้างจ่าย ส่วนรายได้ในปีบัญชี 2562 คือยอดขายจากการขายทรัพย์สินเพื่อปิดกิจการ เช่น เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ และคอมพิวเตอร์ บริษัทเช่นนี้จะเป็นสื่อตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้อย่างไร

วีลัค ไม่เหลือความเป็นสื่อแล้ว เป็นบริษัทที่ไม่มีการปฏิบัติการใดๆ รอเพียงแต่การชำระบัญชี

2. ตนยังเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทวีลัคหรือไม่

นายธนาธร ระบุว่า ในวันที่ 6 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในคำร้องของ กกต. ระบุว่า ตนยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทวีลัคถึงวันที่ 21 มี.ค.2562 โดยอ้างอิงถึงเอกสาร บอจ.5 หรือสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่กระทรวงพานิชย์ ในทางปฏิบัติจริงในโลกธุรกิจหรือในทางนิตินัย บอจ. 5 ไม่ใช่หลักฐานแห่งการโอนหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 แต่อย่างใด เป็นเพียงหนังสือที่บริษัทแจ้งกระทรวงพาณิชย์ถึงรายชื่อผู้ถือหุ้น การจะดูว่าการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเกิดผลสำเร็จหรือธุรกรรมเกิดขึ้นเรียบร้อยเมื่อไร เขาอ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1129 และมาตรา 1141

ในวันที่ 8 ม.ค.2562 ได้โอนหุ้นให้คุณสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เรียบร้อยแล้ว โดยได้ทำตราสารโอนหุ้นโดยมีพยาน 2 คนรับรองลายมือชื่อต่อหน้าทนายความโนตารี และส่งมอบเช็คชำระเงินค่าหุ้น พร้อมทั้งได้จดแจ้งการโอนและรับโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทวีลัคในวันเดียวกันครบถ้วนสมบูรณ์ความตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1129 และมาตรา 1141

ดังนั้น สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจึงไม่ใช่หลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น หากผู้ร้องไม่มีหลักฐานอื่นมาสนับสนุนข้ออ้างตามคำร้อง ศาลจึงพึงรับฟังข้อเท็จจริงไปตามสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นว่า ตนได้โอนหุ้นให้แก่นางสมพรไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ผู้ร้องไม่อาจนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) มาใช้เป็นหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ว่าตนได้โอนหุ้นของบริษัทวีลัคภายหลังจากวันที่ 6 ก.พ.2562 ได้

ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นอื่น ถ้าไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักพอ หรือเป็นวิทยาศาสตร์พอ ซึ่งผู้ร้องคือ กกต. ไม่มี ก็ต้องถือว่าธุรกรรมถูกทำสำเร็จ เสร็จสิ้น ครบถ้วนตั้งแต่วันที่มีการทำธุรกรรมเรียบร้อยแล้ว จนถึงวันนี้ยังเป็นหน้าที่ของผู้ร้องในการหาหลักฐานมาหักล้างการทำธุรกรรมที่สำเร็จเสร็จสิ้นในวันนั้น

 

3.การถือหุ้นของตนนั้นผิดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพื่อชี้แจงเรื่องนี้ นายธนาธรได้อธิบายที่มาของมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญว่า บทบัญญัตินี้เริ่มมีขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถ้าดูรายงานการประชุมของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 24/2550 นายชูชัย ศุภวงศ์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อภิปรายไว้ว่า มาตรานี้เกิดขึ้นมาเพราะในสถานการณ์ที่ผ่านมา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กุมอำนาจรัฐได้แทรกแซงสื่อ ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่เพียงเท่านั้น ยังกว้านซื้อสื่อ เป็นเจ้าของสื่อ แล้วการที่นักการเมืองไปเป็นเจ้าของสื่อก็ทำให้เกิดการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของสื่อ ทำให้กลไกการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญต้องพิกลพิการ และที่สำคัญคือไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างที่ควรจะรับรู้

นิตยสาร 3 เล่มตั้งแต่วันที่มันเกิดขึ้นจนถึงวันที่มันตายลง ไม่เคยให้คุณทางการเมืองกับผม และไม่เคยให้โทษทางการเมืองกับคู่แข่งทางการเมืองของผม 

นายธนาธรกล่าว อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน ที่จะแสดงเจนารมได้ดี คือ วันที่นิตยสารปิดตัวลง 26 พ.ย.2561 มีหลักฐานอย่างดีว่าบริษัทไม่มีผลิตภัณฑ์ ไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้แล้ว เกิดขึ้นก่อนที่จะมีใครรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ และจะมีเมื่อไร เพราะ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ประกาศเมื่อ 23 ม.ค.2562 ไม่มีใครรู้ก่อนวันที่ 23 ม.ค.ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่เมื่อไร แต่บริษัทปิดไปแล้วตั้งแต่ 26 พ.ย.2561

4.กระบวนการพิจารณาคดีถูกต้องยุติธรรม ให้ความเป็นธรรมหรือไม่

นายธนาธรชี้ว่า คดีนี้ กกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ทั้งๆ ที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. เองยังดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่เสร็จสิ้น กล่าวคือเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 พยานทั้งสองคนที่ลงลายมือชื่อในตราสารโอนหุ้น และทนายโนตารีซึ่งรับรองการลงลายมือชื่อในตราสารโอนหุ้นฉบับดังกล่าว ยังได้รับหนังสือขอเชิญไปให้ถ้อยคำจากนายปรีชา นาเมืองรักษ์ ประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 6 ของ กกต.อยู่เลย การที่ กกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยที่กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ในชั้นคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. เองยังไม่เสร็จสิ้น แสดงให้เห็นว่าการรวบรวมพยานหลักฐานของ กกต.มีความเร่งรัดผิดปกติ และตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบให้สิ้นกระแสความเพื่อกลั่นแกล้งตนในทางการเมืองหรือไม่

ถูกกลั่นแล้ง-ผิดที่ต่อต้านอำนาจคสช.

นอกจากนี้ นายธนาธร ยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้เกิดขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ เป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ เป็นการฟ้องโดยไม่สุจริตหรือไม่ เพราะขณะที่กรรมการสืบสวนไต่สวนยังทำงานอยู่ กกต. ชุดใหญ่มิได้มีรายงานจากกรรมการสืบสวนไต่สวนข้อเท็จจริง ท่านเอาข้อมูลที่ครบถ้วนกระบวนความจากไหนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ความบกพร่องในรูปแบบและกระบวนการในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะกระบวนการที่อยู่ในชั้นของศาลรัฐธรรมนูญต่างจากศาลอื่นๆ ศาลรัฐธรรมคือศาลชั้นเดียว

 

ดังนั้น ไม่มีการให้ความเป็นธรรมกับผมอย่างอื่น นอกจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการที่ไม่ถูกต้อง กระบวนการที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้ถูกร้อง แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็มีน้ำหนักเพียงพอแล้วที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องนี้เสีย

หากถามว่ากระทำผิดอะไร ความผิดของตนย่อมไม่ใช่ถือหุ้นสื่อ ไม่ใช่เรื่องให้เงินพรรคกู้ ความผิดฐานเดียวคือต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.

นอกจากนี้ยังระบุว่า สังคมวันนี้มีเส้นทาง ความแตกต่างทางความคิดอย่างเห็นได้ชัดอยู่ 2 กระแส หนึ่งคือ เส้นทางที่จะพาประเทศไปข้างหน้าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน อีกเส้นทางหนึ่งต้องการพาประเทศไปข้างหน้าด้วยอำนาจนิยมและอนุรักษนิยม ผมคิดว่า คนที่จะตัดสินเรื่องนี้ได้ดีที่สุดไม่ใช่ศาล คนที่จะตัดสินเรื่องนี้ได้ดีที่สุดควรจะเป็นประชาชนผู้ทรงสิทธิ์ ผู้ทรงอำนาจ มีเสรีภาพในการเลือกอนาคตประเทศไทยด้วยตัวเอง