ย้อนเส้นทางคดีฟอกเงินกรุงไทย "พานทองแท้ ชินวัตร"

อาชญากรรม
25 พ.ย. 62
09:38
2,046
Logo Thai PBS
ย้อนเส้นทางคดีฟอกเงินกรุงไทย "พานทองแท้  ชินวัตร"
สรุปคดีฟอกเงินทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย "พานทองแท้ ชินวัตร" ก่อนศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง "ยกฟ้อง" ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าฟอกเงิน

วันนี้ (25 พ.ย.2562) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีฟอกเงินทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มีจำเลยชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร หรือ โอ๊ค บุตรชายคนโตของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนนตรี

คดีนี้คณะกรรมการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายพานทองแท้ ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9 และ 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91

คดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2561 กรณีนายพานทองแท้รับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาทเข้าบัญชี โดยเงินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจากการทุจริตปล่อยเงินกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทยกับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มีนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารกฤษดามหานคร กับนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชาย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ตกเป็นจำเลยคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คดีดังกล่าว ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้จำคุกนายวิชัยและนายรัชฎา คนละ 12 ปี นอกจากนี้นายวิชัย นายรัชฎา และกลุ่มอดีตกรรมการบริษัทเอกชนในเครือกฤษดา รวม 6 คน ยังถูกอัยการยื่นฟ้องความผิดฐานฟอกเงินการปล่อยกู้ดังกล่าวต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบด้วย

คดีนี้ นายพานทองแท้ให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เงิน 10 ล้านบาทที่โอนเข้าบัญชีเป็นการร่วมลงทุนธุรกิจรถซูเปอร์คาร์กับนายรัชฎา


ย้อนคดีฟอกเงินกรุงไทย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 ธนาคารกรุงไทย ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยในขณะนั้น ได้ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นเงิน 9,900 ล้านบาท และกลุ่มบริษัทกฤษดามหานครที่ได้รับเงินกู้ โอนเงินเพื่อชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงเทพ เจ้าหนี้เดิม และโอนเงินไปยังบริษัทในเครืออื่น และนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร หลังจากนั้น นายวิชัยกับพวก โอนเงินไปยังบุคคลและนิติบุคคลอื่นๆ กว่า 150 ราย

ต่อมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ตรวจพบการกระทำความผิดและร้องทุกข์ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน

ปี 2549 มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และปีเดียวกัน ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนสอบสวนให้ คตส.

 

จากนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งคดีพิเศษที่ 36/2550 เพื่อสอบสวนการกระทำความผิดฐานฟอกเงินของผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ซึ่งได้สอบสวนพยานอื่นๆ ที่เป็นผู้รับเงินด้วย รวมถึงนายพานทองแท้ นางกาญจนาภา นายวันชัย และนางเกศินี

ปี 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย นายวิชัย และนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ มีความผิดฐานทุจริต

ต่อมาปี 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ สรุปสำนวนคดีมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายวิชัย นายรัชฎา กับบุคคลและนิติบุคคลอื่น รวม 13 คน ในความผิดฐานฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน เดือน ต.ค.ปีเดียวกัน กรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดสำนวนคดี กล่าวหานายพานทองแท้ นางกาญจนาภา นายวันชัย และนางเกศินี กฤษดาธานนท์ ในมูลค่ากระกระทำความผิด 26 ล้าน บาท และ 10 ล้านบาท

ปี 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ สรุปสำนวนคดีมีความเห็นควรสั่งฟ้อง 3 คนคือ นายพานทองแท้ นางกาญจนาภา นายวันชัย ในความผิดฐานฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ส่งต่อพนักงานอัยการ

ล่าสุด วันที่ 25 พ.ย.2562 ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายกฟัองนายพานทองแท้ คดีทุจริตฟอกเงินธนาคารกรุงไทย เนื่องจากศาลฯ เห็นว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะเชื่อได้ว่านายพานทองแท้ มีส่วนร่วมต่อการฟอกเงิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ศาลฯยกฟ้อง "พานทองแท้" คดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย

"พินทองทา" โพสต์ IG ระบุ ไม่ต้องห่วงแม่และพวกเรา

"โอ๊ค พานทองแท้" ให้การคดีปล่อยกู้กรุงไทย

"ตื่นเต้นครับ" จับตา "พานทองแท้" วันตัดสินคดีฟอกเงินกรุงไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง