เพียงคำเดียว คำพ้องเสียง "เกษียณ-เกษียน-เกษียร"

Logo Thai PBS
เพียงคำเดียว คำพ้องเสียง "เกษียณ-เกษียน-เกษียร"
เพราะเป็นคำที่ใช้ได้หลากหลาย ตามรูปคำตัวสะกด ทั้ง ณ น และ ร แม้ออกเสียงเหมือนกันว่า "เกษียน" หากกลับมีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สูงอายุ สูงวัย วัยชรา นอกจากกล่าวกันว่าหมายถึงบุคคลที่อายุ 60 ปีขึ้นไป บางกรณียังอาจใช้ว่า วัยเกษียณ เพราะเป็นคำที่แรกเริ่มเดิมทีมักใช้ในทางราชการ หรือใช้กล่าวเป็นเพียงคำพูด บ่อยครั้งจึงมีผู้สับสนปะปนตัวสะกด หากเพราะรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า กษีณ หมายถึง สิ้น หมดไป เสื่อมไป เกษียณที่ไทยนำมาใช้กล่าวถึงการเกษียนอายุ จึงต้องสะกดด้วย ณ

 

ขณะที่ เกษียน น ใช้ได้ทั้งในความหมายของการเขียน หรือหมายถึงข้อความที่เขียนแทรกไว้ในใบลาน หัวกระดาษคำสั่ง หรือหนังสือราชการ มักใช้ว่า หัวเกษียน หรือ เกษียนหนังสือ สันนิษฐานว่าอาจมีที่มาจากภาษาเขมร

 

เกษียน อาจหมายถึงข้อความที่เขียนแทรกไว้ในคัมภีร์ใบลาน หรือการเขียนข้อความสั้นๆในคำสั่ง หรือหนังสือราชการ มักมาพร้อมกับคำว่า เกษียนหนังสือ ถ้าดูจากการออกเสียงสันนิษฐานว่าอาจมาจากภาษาเขมร ที่ว่า กะเซร คือการเขียนหนังสือ แต่ไทยออกเสียงไม่ได้เลยเป็น เกษียน

 

อีกคำที่อ่านเกษียน หากสะกดด้วย ร มักปรากฏให้เห็นในคำว่า เกษียรสมุทร มาจากภาษาสันสกฤต ว่า กษีร แปลว่า น้ำนม เมื่อนำมาใช้ใน เกษียรสมุทร จึงหมายถึง ทะเลน้ำนม ที่ประทับของพระนารายณ์ โดยทะเลน้ำนมที่ว่าเป็นการเปรียบเทียบความงามของพื้นน้ำ ที่เป็นสีเงินยวงราวกับน้ำนม

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง