วันนี้ (14 ม.ค.2563) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำภาคการเกษตรเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล พัทลุง และภูเก็ต ภายหลังลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา รวมทั้งการติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนสะสมปี 2562 เทียบกับค่าเฉลี่ยที่มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 20%
สถานการณ์แม่น้ำสายหลัก ภาพรวมระดับอยู่ในเกณฑ์น้อยและต้องเฝ้าระวังคุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่แม่น้ำสายหลักในภาคเหนือและภาคตะวันออก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ส่วนแม่น้ำโขง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดในปี 2535 แนวโน้มระดับน้ำแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เชียงราย ถึง จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มลดลง เว้น จ.มุกดาหาร มีแนวโน้มทรงตัว

ขณะที่กรมชลประทาน รายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดย 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 10,789 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 (ปริมาณน้ำใช้การได้ 4,093 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23) ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 2.82 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 17.84 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 14,082 ล้าน ลบ.ม.
- เขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำ 5,451 ล้าน ลบ.ม. (40% ของความจุอ่างฯ) น้ำใช้การได้ 1,651 ล้าน ลบ.ม. ไหลลงอ่างฯ 0.10 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 7.00 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 8,011 ล้าน ลบ.ม.
- เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำ 4,711 ล้าน ลบ.ม. (50% ของความจุอ่างฯ) น้ำใช้การได้ 1,861 ล้าน ลบ.ม. ไหลลงอ่างฯ 2.65 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 9.28 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 4,799 ล้าน ลบ.ม.
- เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำ 413 ล้าน ลบ.ม. (44% ของความจุอ่างฯ) น้ำใช้การได้ 370 ล้าน ลบ.ม. ไหลลงอ่างฯ 0.07 ล้าน ลบ.ม.ระบาย 1.12 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 526 ล้าน ลบ.ม.
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ปริมาณน้ำ 214 ล้าน ลบ.ม. (22% ของความจุอ่างฯ) น้ำใช้การได้ 211 ล้าน ลบ.ม. ไหลลงอ่างฯ 0.00 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 0.44 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 746 ล้าน ลบ.ม.
"บุรีรัมย์" ประกาศเขตภัยแล้ง 7 อำเภอ
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง จ.บุรีรัมย์ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 7 อำเภอ ได้แก่ อ.พลับพลาชัย อ.ประโคนชัย อ.โนนดินแดง อ.ละหานทราย อ.หนองหงส์ อ.นางรอง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 46 ตำบล 482 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคกว่า 30,500 ครัวเรือน และมีพื้นที่การเกษตรนาข้าวได้รับความเสียหายกว่า 300,000 ไร่
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะการนำน้ำไปแจกจ่ายในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ การเป่าล้างบ่อบาดาลที่ชำรุด และการขุดลอกแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว
