"ช้างป่าเขาใหญ่" ปี 62 หากินนอกเขต 600 ครั้ง

สิ่งแวดล้อม
17 ม.ค. 63
17:06
1,325
Logo Thai PBS
"ช้างป่าเขาใหญ่" ปี 62 หากินนอกเขต 600 ครั้ง
ช้างเขาใหญ่ออกหากินนอกเขตป่า สถิติ 4 ปี เพิ่มขึ้นหลายเท่า ปี 2562 กว่า 600 ครั้ง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ วางมาตรการรับมือ พร้อมปรับปรุงแหล่งน้ำ-อาหาร ลดช้างออกนอกเขตป่า ทำลายพืชผลทางการเกษตรชาวบ้าน

นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า ช้างออกนอกพื้นที่ป่าเขาใหญ่จนเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างมานานหลายปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจากการเก็บสถิติการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่(ตั้งแต่ ปี 2559 ถึง ธ.ค.2562) พบในปี 2561 มีช้างป่าออกนอกพื้นที่ จำนวน 685 ครั้ง ปี 2562 จำนวน 602 ครั้ง ซึ่งมีจำนวนลดลงแต่เมื่อเทียบกับปี 2559 มีจำนวน 26 ครั้ง และ 2560 จำนวน 327 ครั้ง ถือว่ามีมากขึ้น โดยเปรียบเทียบ 4 ปี สูงขึ้นเกือบ 30 เท่า

 

สำหรับสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากประชากรช้างป่าในพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8% หรือ 24 ตัว ปัจจุบันมีช้างป่าเท่าที่นับได้มีกว่า 300 ตัว ขณะที่พื้นที่มีจำนวน 1.3 ล้านไร่ ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี นครนายก และหนึ่งในจำนวนนี้มักออกหากินนอกพื้นที่ป่าเข้าไปใกล้เขตชุมชน สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรของประชาชน

นักท่องเที่ยวรบกวน-ติดใจอาหาร

นายครรชิต กล่าวว่า ช้างป่าออกนอกพื้นที่เป็นผลมาจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกรบกวน รวมไปถึงกิจกรรมการท่องเที่ยว การล่าสัตว์ หรือการบุกรุกพื้นที่ป่าของราษฎรเพื่อต้องการพื้นที่เกษตรกรรมส่งผลให้สัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่าต้องถอยร่นไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปริมาณช้างป่าเองก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแต่พื้นที่ป่ามีจำกัดจึงทำให้บ่อยครั้งช้างป่าเดินออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์


สัตว์ป่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้พรมแดนและเขาสามารถไปได้ทุกที่ ในอดีตที่ผ่านมา จากถนนมิตรภาพ 23 กม. มาถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อก่อนมีสภาพเป็นป่าหมดเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเป็นพื้นที่ราบลุ่มและมีแหล่งน้ำและอาหาร แต่พอมีชุมชนสัตว์ป่าเหล่านี้ก็กลับเข้ามาในอุทยานฯ เข้าออกอย่างนี้อยู่ 

ความน่ารักของชาวบ้าน คือ ไม่ทำร้ายสัตว์ป่าออกไปนอกพื้นที่แล้วไม่ถูกทำร้าย ช้างก็ออกไปประจำ สร้างความเสียหายให้กับพืชไร่ โรงแรมรีสอร์ต ร้านค้า

นายครรชิต กล่าวว่าโดยธรรมชาติของช้างเพศผู้หรือช้างพลายจะถูกขับออกจากฝูงเมื่อโตเต็มวัย ทำให้ไม่สามารถอยู่ในโขลงได้ ต้องกระจัดกระจายออกมาพื้นที่โดยรอบไปหากินทำลายทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน เช่น ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งมีรสชาติที่ที่ดีกว่าในป่าช้างติดใจในรสชาติออกมาหากินกลับไปกลับมาอยู่เป็นประจำ

ช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่มักเป็นช้างตัวผู้ออกมาตัวเดียวไม่ได้ออกมาเป็นฝูง อาจไม่ได้เกิดจากสาเหตุการขาดแคลนแหล่งน้ำและอาหารในป่า สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของฝูงที่เกิดจากประชากรช้างที่มีการขยายมีการขับช้างตัวผู้ออกจากฝูง และรสชาติอาหารที่แตกต่างออกไปที่มีอยู่บริเวณภายนอกนั้นก็เป็นอีกหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน

สำหรับพื้นที่ที่พบช้างป่าบ่อยครั้งในพื้นที่ ต.หมู่สี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา, ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก, ต.วังหมี  อ.วังน้ำเขียว ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในมาตรการที่กำลังร่วมกับทางจังหวัดสถานีวิจัยในพื้นที่ ที่ จะสร้างแรงจูงใจให้ช้างอยู่ในพื้นที่ มากขึ้นและก็ไม่ออกไปข้างนอก โดยเตรียมความพร้อมในเรื่องของแหล่งน้ำแหล่งอาหหารให้อยู่ในพื้นที่ และจะสร้างแนวป้องกันให้เข้าอยู่ในพื้นที่ ไม่ให้เขาออกไปข้างนอก ทั้งระยะต้น ระยะกลาง และระยาว

 

นายครรชิต กล่าวว่า แนวทางการรับมือสถานการณ์ช้าง กรมอุทยานจึงได้วางแนวทางการแก้ปัญหาหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การสร้างรั้วธรรมชาติ เช่น รั้วรังผึ้ง รั้วไผ่หนาม ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการปลูกไปแล้ว 26,940 ต้น ระยะทาง 26.9 กิโลเมตร ไว้ป้องกันช้างและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ นอกจากนี้ เกิดความเสียหายกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะประกาศเขตภัยพิบัติจากสัตว์ป่าเพื่อ ใช้งบประมาณจ่ายค่าเยียวยาให้กับชาวบ้าน รวมไปถึงการเพิ่มแหล่งน้ำ จัดแหล่งอาหาร สร้างโป่งเทียม จัดชุดเคลื่อนที่เร็วในการผลักดันช้างป่ากลับสู่ป่า และยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรมของช้างป่า ส่วนในระยะยาว จะมีการการติดตามประชากรของช้างป่าและจัดการถิ่นที่อยู่อาศัย การจัดการพื้นที่เชื่อมต่อของสัตว์ป่า ซึ่งกรมอุทยานฯ จะร่วมคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาวิจัย  ซึ่งได้มีการดำเนินการไปตามขั้นตอน ทุกวันนี้ปัญหาอุปสรรคที่พบคือมีอัตรากำลังไม่เพียงพอเพราะต้องออกลาดตระเวนเป็นหลัก

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง