วันนี้ ( 21 พ.ค.2563) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมด้วย นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมตรวจดูการจัดหน่วยเลือกตั้งจำลอง และการนับคะแนนจำลอง ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะให้ กกต.จังหวัดลำปาง และจะใช้เป็นรูปแบบในการจัดหน่วยเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 4 ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 มิ.ย.นี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

โดยการจัดหน่วยเลือกตั้งเน้นการเว้นระยะห่างในแต่ละจุดประมาณ 2 เมตร ซึ่งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือ กปน. จะต้องสวมกากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ,Face Shield และถุงมือยาง ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อมาใช้สิทธิ์จะต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และรอที่จุดพักคอย ที่จะมีการจัดเก้าอี้เว้นระยะห่างไว้ จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการตรวจสอบรายชื่อ ตามด้วยตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ โดยในจุดนี้จะมีเจ้าหน้าที่ อสม. มาเป็นผู้ตรวจ หากพบว่ามีอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 จะถูกแยก ให้ไปใช้สิทธิ์ยังหน่วยเลือกตั้งพิเศษที่อยู่ใกล้เคียง เมื่อใช้สิทธิแส้งเสร็จจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมารับตัวเพื่อไปตรวจสอบว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองโรคหรือไม่
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ผ่านการตรวจอุณหภูมิ จะเข้าไปยังจุดตรวจสอบสิทธิ์เลือกตั้ง ที่จุดนี้ถือเป็นจุดสำคัญ เพราะนอกจากจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้ กปน.ตรวจสอบแล้ว จะต้องเปิดหน้ากากเพื่อยืนยันตัวตนก่อนเซ็นชื่อรับบัตรเลือกตั้ง และเข้าคูหาใช้สิทธิ โดยจะต้องล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ในทุกขั้นตอน
กกต.ย้ำ กปน.ก็จะต้องทำความสะอาดโต๊ะและอุปกรณ์ทุก 15 นาที ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพราะในจุดนี้ผู้ใช้สิทธิ์จะต้องสัมผัสใบหน้าในระหว่างการเปิดหน้ากากให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และเซ็นต์ชื่อ รวมทั้งหลังใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วก็ต้องล้างมือก่อนออกจากคูหาเลือกตั้ง และทุก 1 ชั่วโมง กปน.ยังจะต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ภายในบริเวณหน่วยเลือกตั้ง และทำความสะอาดคูหาลงคะแนน หลังผู้ใช้สิทธิ์ใช้สิทธิ์ไปแล้ว 4-5 คน ต้องทำความสะอาดทันทีด้วย
ทั้งนี้มีการประเมินว่าการใช้สิทธิ์ของประชาชนจากเดิม ใช้เวลาประมาณไม่เกิน 4 นาทีต่อหนึ่งคน อาจต้องใช้เวลามากกว่าเดิมคือ 6-10 นาที ต่อคน แต่ทั้งนี้ก็ได้มีการประสานให้ กกต.ประจำจังหวัดไปประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในแต่ละหมู่บ้านทยอยมาใช้สิทธิในเวลาที่มีการขอความร่วมมือ และจากการที่มีการเพิ่มหน่วยลงคะแนนจาก 321 หน่วย เป็น 400 หน่วย ทำให้แต่ละหน่วยมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่เกิน 400 คน เพื่อลดความแออัด ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้การใช้สิทธิ์ไม่เกิดปัญหา

ส่วนการอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ทางสำนักงานก็ได้เปลี่ยนรูปแบบจากเดิมจากที่จัดอบรมที่อำเภอ เปลี่ยนไปอบรมที่ตำบลแทน และกำหนดให้อบรมรุ่นละไม่เกิน 5-7 หน่วย รวมถึงการรับ-ส่งอุปกรณ์ด้วยก็ให้มีการรับที่ตำบล ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งซ่อม จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 40% จากเดิมใช้งบประมาณเลือกตั้งซ่อมแต่ละครั้ง 10-13 ล้านบาท โดยการจัดหน่วยเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะเป็นรูปแบบที่จะนำไปใช้หากจะต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 7 สมุทรปราการที่ศาลจะมีคำตัดสินในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
นายอิทธิพร ยังกล่าวว่าก่อนหน้านี้ กกต. ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยมีการทำแผนในการจัดการเลือกตั้ง ในสถานการณ์COVID-19 ไว้ และเมื่อต้องการจัดการเลือกตั้งซ่อมเขต 4 ลำปาง ก็ได้นำแผนมาเพิ่มเติมในรายละเอียด โดยคงหลักการว่าต้องปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด แต่เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เกิดความสบายใจและปลอดภัย จึงได้มีการขอความร่วมมือ ทางกรมควบคุมโรคเข้ามาช่วยดูแล ซึ่งในชั้นนี้สิ่งที่กกต. กำหนดเป็นมาตรการที่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขว่าจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงขอให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกิดความมั่นใจ และมาใช้สิทธิ์
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวว่าจากการดูการจำลองหน่วยเลือกตั้ง พบว่ามาตรการที่ กกต.ทำขึ้นก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจปลอดภัยต่อประชาชนที่จะมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยได้ให้คำแนะนำ ซึ่งก็จะมีการประสานกับสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ให้เข้าไปสนับสนุนภารกิจของ กกต.ในครั้งนี้ด้วย
ถ้าเจ้าหน้าที่และผู้มีสิทธิ์ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ก็เชื่อว่าทุกคนจะได้รับความปลอดภัย
ทั้งนี้ กกต. ได้มีการประสานขอให้รัฐบาลออกข้อกำหนด เพื่อขยายเวลาเคอร์ฟิวในพื้นที่เขตเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง เพื่อรองรับการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และจะมีการประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติการเลือกตั้งจำนวนเท่าใด ที่จะต้องทำงานเกินกว่าเวลาเคอร์ฟิว
