ลุยเขาอ่างฤาไนตรวจเชื้อ COVID-19 "ค้างคาวมงกุฎ" รู้ผล ก.ค.นี้

สิ่งแวดล้อม
19 มิ.ย. 63
19:39
910
Logo Thai PBS
ลุยเขาอ่างฤาไนตรวจเชื้อ COVID-19 "ค้างคาวมงกุฎ" รู้ผล ก.ค.นี้
กรมอุทยานฯ ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา จับค้างคาวมงกุฎตรวจหาไวรัส COVID-19 คาดรู้ผลช่วง ก.ค.นี้

วันนี้ (19 มิ.ย.2563) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา จับค้างคาวเพื่อตรวจหาเชื้อโรคอุบัติใหม่และไวรัส COVID-19

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ในการเก็บตัวอย่างค้างคาวมงกุฎในวันนี้ เพื่อเก็บน้ำลาย สารคัดหลั่งและอุจจาระ เนื่องจากค้างคาวเหมือนเป็นแหล่งรังโรค และเพื่อป้องกันโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อและอุบัติใหม่แห่งชาติ เพื่อรับมือโรคอุบัติใหม่

การลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือด อุจจาระและค้างคาวมงกุฎในครั้งนี้ เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อสำรวจโรคอุบัติใหม่รวมถึงการคาดการณ์และเฝ้าระวังในอนาคต รวมถึงเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม

 

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า จากการสำรวจของกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า พบว่ามีค้างคาวกว่า 138-140 สายพันธุ์ และ 29 สายพันธุ์เป็นค้างคาวมงกุฎ ข้อมูลที่เคยมีอยู่เดิมนั้นทราบว่าจำนวน 22 ชนิดอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง แต่ ณ เวลานี้พื้นที่เดิมที่เคยพบก็เหลือน้อยมาก หรือสูญหายไป บางพื้นที่ที่ไม่เคยพบก็พบ ซึ่งค้างคาวมงกุฎเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจโดยเริ่มจากผืนป่าตะวันตก จากนั้นจะไปในผืนป่าตะวันออก ขณะที่ในภาค อื่นๆ เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้จะต้องพิจารณาข้อมูลประกอบอีกครั้ง

ก.ค.นี้รู้ผลตรวจเชื้อ COVID-19 

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวอีกว่า ในหนึ่งคืนค้างคาวสามารถบินหากินได้ไกลถึง 100 กิโลเมตร อาจซ้อนทับกับพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ และด้วยความเสี่ยงก็คือค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่บินได้ ซึ่งการศึกษาอาจยังไม่ต้องรอผลวิจัยขั้นสุดท้ายแต่ด้วยการที่ค้างคาวเป็นรังโรคต้องลดพฤติกรรมเสี่ยงของคนคือ การรับประทานค้างคาว หรือการสัมผัสโดยตรง หรือสารคัดหลั่งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ค้างคาวอาจเป็นตัวรังโรคอันดับ 1 ทั้งนี้มี 2 ช่องทางในการติดต่อสู่มนุษย์คือ คนไปหาเชื้อโดยการบุกรุกทำลายถิ่นอาศัย การค้าสัตว์ป่าและอื่นๆ  นอกจากนี้เชื้อโรคเข้าหามนุษย์คือ การอพ ยพย้ายถิ่นของสัตว์เหล่านี้ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ มลพิษ การบุกรุกป่า ทำให้การหากิน และใกล้มนุษย์มากขึ้นซึ่งเราต้องป้องกันเมื่อเชื้อโรคจะเข้าหาตัวเรา

 

"One world One health สุขภาพหนึ่งเดียวหนึ่งเดียว ทั้งคนและสัตว์ โดยข้อมูลต่างๆที่ได้จะมีการแลกเปลี่ยนในระดับนานาประเทศ เพื่อศึกษาและวางแผนรับมือโรคอุบัติใหม่ต่อไป"  

ด้าน ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้จะเก็บตัวอย่างจากค้างคาวทัเงหมด 100 ตัว โดยขั้นตอนการตรวจคือ จำแนกชนิดค้างคาว ซึ่งเมื่อตรวจพบเชื้อจะสามารถตรวจหาว่าเชื้อโรคมาจากค้างคาวชนิดใด รวมถึงการวัดน้ำหนัก ขนาด และเจาะเลือด จากนั้นเก็บตัวย่างน้ำลาย อุจจาระค้างคาว ปัสสาวะ จากนั้นปั่นแยกเลือดเพื่อหาน้ำเหลืองเพื่อตรวจถูมิคุ้มกันว่าติดเชื้อไวรัส CORONA หรือ COViD-19 หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการตรวจในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้

 

หากพบว่ามีไวรัส COVID-19 ก็แสดงว่าประเทศไทยมีความเสี่ยง จากนั้นก็จะตรวจพื้นที่ใกล้เคียงว่าเชื้อกระโดดมาสู่คนหรือสัตว์หรือไม่ 

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า การตรวจจะเป็นรูปแบบของการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ ซึ่งเลือกจากเขตที่มีค้างคาวมงกุฎซึ่งในไทยมี 22 ชนิด หากพบเชื้อไวรัสชนิดใหม่ในค้างคาว และการค้นหาไวรัสชนิดใหม่จะช่วยประเมินโรคใหม่ๆซึ่งจะช่วยวางแผนได้ ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้จะแบ่งปันให้กรมตวบคุมโรค กรมอุทยานฯและธนาคารรหัสพันธุกรรมกลางในระดับโลกว่าพบในค้างคาวชนิดใดและโอกาสที่จะติดต่อสู่คนในระดับใด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอล็อต" นำทีมตรวจค้างคาวมงกุฏหาเชื้อ COVID-19 ในถ้ำสะดอ

ม.เกษตร-จุฬาฯ เร่งสำรวจค้างคาวมงกุฎไทยหาเชื้อ "โคโรนา"

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง