ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หมอเตือนรับจ้าง "อุ้มบุญ" เสี่ยงตกเลือด-มดลูกแตก

สังคม
2 ก.ค. 63
17:32
4,878
Logo Thai PBS
หมอเตือนรับจ้าง "อุ้มบุญ" เสี่ยงตกเลือด-มดลูกแตก
สบส.เตือนหญิงไทยรับจ้างอุ้มบุญ เสี่ยงผิดกฎหมาย และมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ เช่น การตกเลือด โรคพิษแห่งครรภ์ ภาวะมดลูกแตก และเสียชีวิต ระบุเพิ่งอนุญาตให้อุ้มบุญถูกกฎหมายในไทยแค่ 344 คน

วันนี้ (2 ก.ค.2563) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สบส.พิจารณาอนุญาตให้ตั้งครรภ์แทนแล้ว 344 คน ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้ม ครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้การขออนุญาตตั้งครรภ์แทนกระทำได้ในคู่สามีภริยาคนไทยที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่กฎหมายห้ามมิให้ดำเนินการอุ้มบุญเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยเด็ดขาด ทำให้ผู้ที่ต้องการมีบุตรแต่ไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมาย หรือผู้ที่ต้องการรับจ้างอุ้มบุญทางการค้าแอบลักลอบไปรับบริการอุ้มบุญที่ต่างประเทศ 

ทั้งนี้ การที่หญิงไทยเดินทางไปรับจ้างอุ้มบุญในประเทศที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เป็นการเฉพาะ ย่อมมีความเสี่ยงในหลากหลายด้าน ทั้งในด้านสุขภาพ ร่าง กาย หรือสิทธิ์ในการเลี้ยงดูเด็กที่เกิด เนื่องด้วยการไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายที่ชัดเจนในการดูแลสุขภาพแก่หญิงอุ้มบุญ หรือกำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็ก โดยเฉพาะหากเกิดการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์แทนก็มิอาจเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากคู่สามีภริยา หรือหากเด็กที่เกิดมีความพิการก็อาจจะทำให้เกิดการทอดทิ้งเด็กได้ ต่างจากประเทศไทยที่มีพ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ควบคุม กำกับเป็นการเฉพาะ

เสี่ยงตกเลือดเสียชีวิต-มีบุตรยาก

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ผลกระทบต่อหญิงที่ขายไข่ หรือรับจ้างอุ้มบุญ พบว่าหญิงที่ทำการขายไข่จะถูกฉีดยาเร่งไข่ในปริมาณมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการคั่งของน้ำในช่องท้อง หัวใจล้มเหลว หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และอาจเกิดการตกเลือด หรือการอักเสบติดเชื้อ สูญเสียความสามารถในการมีบุตรของตนเองในอนาคตได้

ส่วนหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญ ก็มีความเสี่ยงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากจะมีการใส่ตัวอ่อนในปริมาณมาก เพื่อหวังผลให้มีบุตรมากกว่าการคำนึงถึงความปลอดภัยของหญิงที่มารับจ้างอุ้มบุญ มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ เช่น การตกเลือด โรคพิษแห่งครรภ์ ภาวะมดลูกแตก และเสียชีวิต

รวมทั้งหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญ ถือเป็นมารดาของเด็กที่จะเกิดมาจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบกับครอบครัว และการใช้ชีวิตของหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์ ก่อให้เกิดปัญหาต่อเด็กและสังคมตามมา

ทั้งนี้ การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนสามารถกระทำได้ในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (https://mrd-hss.moph.go.th/) โดยขณะนี้มีจำนวน 100 แห่งทั่วประเทศ  

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง