เลือกตั้งเมียนมา 2020 : ประชามติวัดความนิยม "ซูจี"

ต่างประเทศ
2 ก.ค. 63
20:03
2,052
Logo Thai PBS
เลือกตั้งเมียนมา 2020 : ประชามติวัดความนิยม "ซูจี"
คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมากำหนดให้วันที่ 8 พ.ย.นี้ เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป หลายฝ่ายมองว่า ออง ซาน ซูจี และพรรค NLD จะคว้าชัยในการเลือกตั้งอีกครั้ง ขณะที่ความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว อาจบั่นทอนคะแนนนิยมรัฐบาลซูจี

วันนี้ (2 ก.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมียนมาในวันที่ 8 พ.ย.2563 อาจเรียกได้ว่าเป็นการลงประชามติวัดความนิยมของออง ซาน ซูจี หลังนำพาพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2558

สมาชิกระดับสูงของพรรค NLD เปิดเผยว่า พรรคจะส่งผู้สมัครลงชิงชัยในทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบททดสอบสำคัญหลังเมียนมาต้องเผชิญปัญหารอบด้านในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 พรรค NLD ครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา ไม่ว่าจะเป็นสภาชนชาติและสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรค NLD ได้ที่นั่งในสภาชนชาติ 135 ที่นั่ง จาก 224 ที่นั่ง และสภาผู้แทนราษฎร 255 ที่นั่ง จาก 440 ที่นั่ง

ความท้าทายคือที่มาผู้แทนของ 2 สภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2551 กำหนดให้ผู้แทนมาจากการเลือกตั้ง 75% ส่วนอีก 25% ถูกกันให้เป็นที่นั่งสำหรับทหารที่ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด หมายความว่าทั้งสภาชนชาติและสภาผู้แทนราษฎรของเมียนมา จะมีสมาชิกเป็นทหารในอัตราส่วนถึง 1 ใน 4

 

สัดส่วนที่นั่งในสภาทำให้กองทัพเป็นฝ่ายได้เปรียบ เนื่องจากกองทัพมีผู้แทนของแต่ละสภาอยู่ในมือแบบตายตัว ยังไม่รวมถึงแรงหนุนจากพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากกองทัพ อย่างพรรค USDP เข้ามาเสริมอีกด้วย

ความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล เนื่องจากกระบวนการสันติภาพหยุดชะงักไป แม้พรรค NLD พยายามดันการสร้างสหพันธรัฐ แต่กรอบรัฐธรรมนูญทำให้รัฐบาลกับกองทัพต้องแบ่งปันอำนาจกัน ทั้ง 2 ฝ่ายมีจุดร่วมคือคัดค้านแนวคิดสุดโต่งของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ทำให้คะแนนนิยมในกลุ่มชาติพันธุ์ลดลง

ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ไม่สดใส เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรัฐบาลของ พล.อ.เต็ง เส่ง ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากซูจี เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการธุรกิจวิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่น ขณะที่ พล.อ.เต็ง เส่ง เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและให้เมียนมาเป็นแหล่งรองรับนักท่องเที่ยวนานาชาติ

 

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช นักวิชาการด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองว่า ซูจียังมีแต้มต่อในการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการวางท่าทีต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และการกุมอำนาจหน่วยงานฝ่ายพลเรือนของรัฐบาลเมียนมา

แม้นักวิชาการจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงการคว้าชัยชนะของพรรค NLD แต่โควต้าเก้าอี้ใน 2 สภาที่กองทัพยึดเอาไว้ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างเป็นอิสระ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง