THE EXIT : บั่นทอนกำลังใจ ส่อทุจริต

เศรษฐกิจ
16 ส.ค. 63
19:20
553
Logo Thai PBS
THE EXIT : บั่นทอนกำลังใจ ส่อทุจริต
โครงการกำลังใจ ที่เปิดโอกาสให้ อสม. อสส. เจ้าหน้าที่ รพ.สต.รวม 1.2 ล้านคน ลงทะเบียนเที่ยวฟรี แต่กลับพบว่าบริษัททัวร์เข้าร่วมโครงการน้อย ขณะที่ อสม.บางส่วนเข้าไม่ถึงโครงการ ติดตามได้ใน THE EXIT

วันนี้ (16 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการกำลังใจ นับเป็นโครงการแรกๆ ของรัฐบาลที่ดึงเงินกู้ฟื้้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท มาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้ อสม. อสส. และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ประมาณ 1.2 ล้านคน เพื่อให้ไปเที่ยวฟรี พร้อมกับการเยียวยาบริษัททัวร์ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วย ซึ่งจะต้องมีการลงทะเบียนในระบบแล้วเลือกแพ็กเกจทัวร์ และแพ็กเกจทัวร์มาจากบริษัททัวร์ที่สมัครเข้าโครงการ ผู้ลงทะเบียนสำเร็จก็เลือกพิจารณาได้จากเว็บไซต์ ไปเที่ยวได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2563

บริษัททัวร์ร่วมโครงการน้อย

อย่างไรก็ตาม พบว่าโครงการกำลังใจเกิดสารพัดปัญหา บริษัททัวร์สนใจสมัครน้อย เพราะกำไรต่อหัวต่ำ แต่ความเสี่ยงสูง จนรัฐต้องขยายเวลาลงทะเบียน เพื่อให้บริษัทนำเที่ยวเข้ามาลงทะเบียนเพิ่มเติม ล่าสุด มีเพียง 1,080 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนบริษัทนำเที่ยวทั้งหมดกว่า 12,000 บริษัท ยังขาด จ.หนองบังลำภู สมุทรสงคราม สิงห์บุรี อ่างทอง ที่ไม่มีผู้ประกอบการเสนอเข้าร่วม ส่วนสาเหตุที่เข้าร่วมน้อย เพราะเสี่ยงจากกรณี อสม.เบี้ยวนัด ถึงเวลาไม่ไป ไม่สแกนคิวอาร์โค้ดเป็นหลักฐาน บริษัททัวร์ขาดทุน เพราะไม่ได้เงินค่าเที่ยวของ อสม.คนนั้น ทั้งที่ลงทุนทำทัวร์ไปแล้ว

 



จากความเสี่ยงข้างต้น แต่กำไรต่อหัวน้อย หรืออาจไม่มีกำไร จึงเป็นต้นเหตุอีกอย่างที่ทำให้บริษัททัวร์ไม่สนใจ บางบริษัทคาดว่ากำไร 200 บาท หรืออาจกำไรเหลือแค่ 50 บาท ทริปประหยัดอย่างเที่ยว กรุงเทพฯ กาญจนบุรี พักโรงแรม 4 ดาว ห้องละ 900 บาท หรือคนละ 450 บาท รวมค่ารถบัสโดยสาร อาหาร 3 มื้อ ข้าวกล่อง 1 มื้อ ค่าไกด์ ผู้ช่วยไกด์ ประกันภัยและภาษี รวม 2,163 บาท ซึ่งเกินงบที่ตั้งไว้ 2,000 บาทไปแล้ว

อสม.นับแสนไม่มีสมาร์ทโฟน

ส่วนการสมัครเข้าร่วมโครงการของ อสม. รัฐบาลวางขั้นตอนรัดกุม โดยให้ อสม.เข้าระบบในมือถือ สแกนใบหน้า โหลดแอปพลิเคชัน ซึ่ง อสม.นับแสนคนไม่มีโทรศัพท์มือถือ และ อสม.อีกนับแสนมีมือถือ แต่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน แค่นี้ก็ปิดทาง อสม.จำนวนมาก อดไปเที่ยวแล้ว และถ้าจะไป อสม.บอกว่าขอไปกับคนคุ้นเคย หาก อสม.ชุมชนนี้ มี 20 คน ลงทะเบียนผ่าน 15 คน แต่อีก 5 คนลงไม่ได้ ก็จะไม่ไปทั้งหมด

 


แม้เที่ยวกำลังใจ จะให้ไปได้ทุกคน แต่กระบวนการสมัคร ทำให้ไปได้ไม่ครบ จากข้อมูล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม หรือลงทะเบียนมา 2 สัปดาห์ อสม.ประมาณ 1,200,000 คน ลงทะเบียนได้ 150,000 คน ประมาณร้อยละ 13 ลงทะเบียนแล้ว แต่ไปจริงยิ่งน้อย เพียง 3,609 คน หรือร้อยละ 0.3 เท่านั้น จากสิทธิ์คนละ 2,000 บาท และโปรแกรม 2 วัน 1 คืน รวมทั้งข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ อสม.หลายคนบอกไม่ไปดีกว่า หรืออยากไปเที่ยวไกลกว่าใช้เงินมากกว่า

บางบริษัทกว้านรับนำเที่ยว

แต่ปัญหาที่มากกว่านั้นอาจเป็นการล็อบบี้ให้ไปกับทัวร์ที่ดีลกับท้องถิ่นรายใดรายหนึ่งเท่านั้น ซึ่งข้อกำหนดล่าสุดของโครงการกำลังใจที่ให้บริษัทนำเที่ยวจะมารับงานไปเที่ยวกำลังใจ อสม. อสส. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.จำกัดได้ไม่เกิน 3,000 คน เพราะต้องกระจายให้ทัวร์รายอื่นด้วย เกณฑ์นี้ผุดขึ้นมา หลังจากที่มีข้อร้องเรียนว่ามีบริษัทนำเที่ยวบางแห่งไปกว้านรับงานนี้จากหลายพื้นที่ อ้างได้รับจองนับแสนคน

 



งบประมาณหัวละ 2,000 บาท กับการเที่ยวต่างจังหวัด ถ้าจะได้กำไรต้องหาลูกทัวร์ให้ได้จำนวนหัวมากๆ หารกันให้ต้นทุนถูกลง โครงการนี้จึงเสี่ยงเปิดช่องให้บริษัททัวร์บางแห่งที่เคยรับนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก แต่วันนี้ไม่มีงาน แต่มีรถ มีร้านอาหาร มีโรงแรมของตัวเอง มารับงานโครงการกำลังใจ ความเสี่ยง คือทำทัวร์เอง รถก็ของตัวเอง ร้านอาหาร โรงแรมของตัวเอง รายได้จากโครงการนี้ถ้าได้ก้อนใหญ่ก็กินรวบไม่แบ่งใคร

พบปัญหาล็อกสเปก-ล็อบบี้

ล็อกสเปก ก็เป็นอีกแบบ เที่ยวกำลังใจของ อสม.ปกติจะให้บริษัททัวร์หลายเจ้าไปพรีเซนต์ เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกกันว่าชอบแบบไหน แต่มีบางพื้นที่มีคนกลางมาช่วยดีล ระหว่างบริษัททัวร์รายใหญ่ กับผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารจะสั่งให้ อสม.ในเขตรับผิดชอบ เลือกโปรแกรมทัวร์เจาะจงเลือกรายใดรายหนึ่งเท่านั้น นัดหมายไปพร้อมกันเป็นคณะใหญ่ ความผิดปกตินอกจากบังคับเลือกแล้ว บริษัททัวร์นั้น ยังไม่ผ่านการคัดกรองเข้าโครงการด้วยซ้ำไป ราคาแพ็กเกจแพงกว่า 2,000 บาท ต้องให้ อสม.ควักเงินจ่ายเพิ่ม การล็อบบี้ไม่เป็นธรรมกับบริษัททัวร์รายอื่น นายจำรัส คำรอด ประธานชมรม อสม.ยอมรับว่ามีข้อร้องเรียนคล้ายๆ กันนี้

 

 

กินรวบ ล็อกสเปกว่าหนักแล้ว แต่ที่หนักกว่า คือกินค่าหัวคิว เรียกรับผลประโยชน์ทั้งกรณีหาลูกทัวร์ อสม.ให้ได้จำนวนมากๆ หรือขอยืมชื่อใช้สิทธิ์คนไม่ได้เดินทาง เพื่อเบิกรับเงินจากรัฐ เงิน 2,000 บาท มาแบ่งให้ อสม. 500 บาท ทัวร์ 500 บาท และคนกลาง 1,000 บาท ขณะที่การไปเที่ยวยังต้องมีหลักฐาน ภาพถ่ายหมู่ 4 ใบ มีหลักฐาน อสม.สแกนทั้งก่อนเดินทาง และก่อนเดินทางกลับจากต่างจังหวัด ยังคิดไม่ออกว่าทำแบบนี้ได้อย่างไร

อสม.อยากได้เงินมากกว่าเที่ยว

ปัญหาคือโครงการมีหลายวัตถุประสงค์ ทั้งอยากให้กำลังใจ อสม. อยากให้บริษัททัวร์ได้เงิน อยากขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้ 1 โครงการ แต่มีหลายวัตถุประสงค์ ทางปฏิบัติทำไม่ได้ ความเสี่ยงทุจริต เกิดขึ้นง่าย เพราะสมประโยชน์ จริงๆ แล้ว อสม.ส่วนใหญ่อยากได้เงินมากกว่าไปเที่ยวอยู่แล้ว เงินค่าเที่ยวน้อย บริษัททัวร์บอกไม่คุ้มไม่อยากทำ เป็นช่องทางคนกลาง เห็นช่องหากินก็หว่านล้อม 2 ฝ่ายจับคู่ทุจริต ผู้ทำโครงการก็พอเห็นปัญหา โครงการนี้มีแนวโน้มเงินจะเหลือพอสมควร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมทำเฟส 2 ในรูปแบบที่คล้ายกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง