วันนี้ (22 ส.ค.2563) ประชาชนทะยอยเดินทางมาที่ "อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา" สี่แยกคอกวัว เพื่อร่วมกิจกรรมการรำลึกถึงบุคคลที่สูญหาย ในเหตุการณ์ทางการเมือง จัดขึ้นโดยกลุ่มศิลปินปลดแอก ตั้งแต่เวลา 17.00 น.ที่ผ่านมา โดยการรวมตัวของศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ที่เคยเข้าร่วมตามเวทีการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในกิจกรรมนี้ ทางเครือข่ายศิลปินปลดแอก ยังได้เปิดเผยรายชื่อ นักกิจกรรมทางการเมือง กว่า 100 คน ที่ต้องลี้ภัยทางเมือง รวมถึงถูกบังคับให้สูญหาย หลังจากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ญาติของบุคคลที่สูญหาย ยังได้มาสะท้อนบอกเล่าเรื่องราวให้กลุ่มที่มารวมตัวกันรับฟังด้วย โดยคนล่าสุด คือนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่หายตัวไปในระหว่างลี้ภัยในประเทศกัมพูชา เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวนายวันเฉลิม ระบุว่า ตอนนี้ทำได้เพียงการตามหาความจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร วันนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าอยู่หรือตาย ผ่านมาจะครบ 90 วัน หน่วยงานรัฐยังไม่มีคำตอบอะไรที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 จำนวน 60 นาย ก็ได้กระจายกำลังรักษาความปลอดภัยโดยรอบ และตั้งแนวรั้วเหล็ก รอบพื้นที่การทำกิจกรรม เพื่อกำหนดขอบเขตการใช้พื้นที่กิจกรรม ร่วมกับบุคคลทั่วไป ที่ยังใช้ชีวิตปกติ บนถนนราชดำเนิน
ผลักดันกฎหมายป้องกันบุคคลสูญหาย
ขณะที่ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งจะเดินทางไปรัฐสภาในวันที่ 27 ส.ค.63 เพื่อยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลให้สูญหาย โดยระบุว่า วันที่ 30 ส.ค.เป็นวันที่ยูเอ็นจะจัดเป็นวันบุคคลสูญหายทั่วโลก โดยประเทศไทยมีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งยังค้างอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ดงันั้นจึงคิดว่าอยากจะเร่งรัดให้กฎหมายนี้ออกมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนจริง ๆ คือ สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และป้องกันไม่ให้ประชาชน ถูกควบคุมตัวโดยผิดกฎหมาย ถูกซ้อมทรมานและเสียชีวิตหรืออาจหายไป เป็นกรณีอุ้มหาย หรือ อุ้มฆ่า ซึ่งปัจุบันยังไม่เป็นความผิดทางอาญา ทำให้การค้นหาความจริงมีความยากลำบาก และไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ ญาติก็ไม่ได้รับการเยียวยาและเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหว คนที่ทำงานด้านการเมืองต้องการที่จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ
คิดว่าจังหวะนี้ของสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะคุณชวน หลีกภัย ซึ่งมีหลายพรรคกาารเมืองร่วมลงนามในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว แต่ติดกระบวนการล่าช้าของทางสำนักงาน ถ้าคุณชวนได้รับข้อห่วงกังวลของญาติและองค์กรภาคประชาสังคม ก้อาจจะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฯฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาโดยเร็วที่สุด
ชู 3 นิ้ว ร้องเพลงชาติลานสกายวอล์ก
ด้าน กลุ่ม "มศว.คนรุ่นเปลี่ยน" จัดกิจกรรมชู 3 นิ้ว ร้องเพลงเคารพธงชาติ ที่ลานสกายวอล์ก หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง เขตปทุมวัน โดยนายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตัวแทนกลุ่ม เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องหยุดคุกคามประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่จัดกิจกรรมทางการเมืองในสถาบันการศึกษา และยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของคณะประชาชนปลดแอกที่ส่งถึงรัฐบาล และเตรียมไปทำกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาลในเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่ขอเปิดเผย และยืนยันไม่ยอมรับการรัฐประหาร
ขณะเดียวกันยังแสดงความคิดเห็นคัดค้านการที่รัฐบาลจัดซื้อเรือดำน้ำในวงเงินกว่า 2 หมื่น 2 พันล้านบาท ทั้งที่ควรนำเงินมาฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี หลังจากเกิดสถานการณ์ COVID-19 โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นเวลา 18.00 น.และมีประชาชนที่อยู่ในละแวกดังกล่าว มาร่วมกันชู 3 นิ้ว และร้องเพลงชาติ ก่อนแยกย้ายกลับ โดยที่ไม่มีการปราศรัยด้วยเครื่องขยายเสียง
นายกฯ ห่วงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง
ด้านแหล่งข่าวในกองทัพ เปิดเผยว่าระหว่างการประชุม คณะกรรมการปรับย้ายนายทหารประจำปี 2563 เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรี ได้หารือผู้บัญชาการเหล่าทัพ ถึงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะกิจกรรมของนักเรียน พร้อมกับกล่าวย้ำถึงความห่วงใยต่อระบบและกลไกของสังคมไทย แม้จะเห็นภาพการต่อต้านรัฐบาล แต่ภาพซ้อนหมายถึงรากฐานครอบครัว และการเคารพผู้หลัก-ผู้ใหญ่
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวพร้อมเปิดทางให้การชุมนุมเป็นไปโดยอิสระ "ไม่ห้าม-ไม่ขัดขวาง" แต่ก็ต้องเฝ้าระวังเหตุอย่างใกล้ชิด ทั้งการทำผิดกฎหมาย ปลุกระดม หรือพาดพิงสถาบัน รวมถึงมีข้อกำชับไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่ต้องพิจารณาแนวทางการทำความเข้าใจกับนักเรียนและนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องติดตามการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหว ที่สืบเนื่องจากปัญหาความเดือดร้อนของ เกษตรกรและกลุ่มแรงงาน รวมถึงกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากเหตุ COVID-19 ซึ่งหากมีการเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็อาจชุมนุมยืดเยื้อได้ และให้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประเมินสถานการณ์แล้ว