วันนี้ (23 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มวลน้ำที่ไหลมาจาก อ.วังชิ้น จ.แพร่ ได้ไหลลงสู่แม่น้ำยมใน จ.สุโขทัย จนทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดกระแสน้ำในแม่น้ำยมได้กัดเซาะถนนริมแม่น้ำยม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังก่อสร้างพนังกั้นแม่น้ำยม แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จนพังเสียหายเป็นระยะทางกว่า 200 เมตร ส่งผลให้น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่หมู่ 1 บ้านวังหิน และพื้นที่หมู่ 7 บ้านบางสง ต.ปากแคว อ.เมืองสุโขทัย
เบื้องต้น มีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย 200 หลัง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 400 คน เสาไฟฟ้าล้ม 20 ต้น ส่วนพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเสียหายแล้ว 1,500 ไร่
นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่เกิดน้ำกัดเซาะถนนริมแม่น้ำยม โดยน้ำได้กัดเซาะถนนริมตลิ่ง 3 จุด ซึ่งเป็นพื้นที่กำลังก่อสร้างพนังกั้นน้ำยม และระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำยมที่จุดวัดระดับน้ำหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย วัดได้ 7.3 เมตร จากระดับน้ำที่สามารถรับน้ำได้สูงสุดที่ 7.40 เมตร เจ้าหน้าที่จึงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและมีสถานที่ราชการอยู่เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ จ.สุโขทัย บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยมบริเวณเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ด้วยการผันน้ำเข้าสู่คลองหกบาทในอัตรา 250-350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำผ่านประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ไม่เกิน 650-710 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้ปริมาณน้ำผ่านตัวเมืองสุโขทัยไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ชลประทานพิษณุโลกเตือน "พื้นที่ต่ำลุ่มน้ำยม" เตรียมรับน้ำ
นายชำนาญ ชูเที่ยง ผอ.โครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า ฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ.แพร่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้น จึงคาดการณ์ว่าน้ำจะเดินทางถึงสถานีวัดน้ำที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ในเกณฑ์สูงสุดช่วงเวลาประมาณ 08.00 - 10.00 น. ที่ระดับ 9.30 - 9.35 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 1,050-1,060 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ล่าสุดวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำที่ อ.ศรีสัชนาลัย ได้ 973.60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อเวลา 05.00 น.
ทั้งนี้ ได้เพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำยม ไม่ให้เกิดผลกระทบจากภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ทั้งในแม่น้ำยมสายหลักและในแม่น้ำยมสายเก่า และเตรียมความพร้อมพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำ เพื่อรับน้ำหลากตามโครงการบางระกำโมเดล พร้อมเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ ขณะที่หน่วยงานชลประทานในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมว.มหาดไทย สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด รับมือน้ำป่า-น้ำท่วม
ร่องมรสุมถล่มเหนือ-อีสาน จมหลายจังหวัด "เวียงสา" ยังวิกฤต