ร้องทส.ขอจัดที่ดินทำกินแปลงรวมในป่าแก่งกระจาน

สิ่งแวดล้อม
27 ส.ค. 63
13:01
294
Logo Thai PBS
ร้องทส.ขอจัดที่ดินทำกินแปลงรวมในป่าแก่งกระจาน
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ยื่นหนังสือต่อขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ทบทวนการจัดที่ดินทำกินโดยหนุนให้จัดแบบแบบแปลงรวม เพื่อทำไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม หลังหัวหน้าอุทยานฯขีดเส้น 240 วันรังวัดที่ดินรายบุคคล

วันนี้ (27 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแก่งกระจาน กว่า 50 คนเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อขอให้พิจารณาข้อเรียกร้องในการจัดการที่ดินแบบแปลงรวมเพื่อทำไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม 

หนังสือดังกล่าว ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป่า และดำรงชีวิตด้วยวิถีการทำไร่หมุนเวียน มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่ป่าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งภายหลังได้มีการบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่า มีการเผาไล่รื้อบ้านเรือน และยุ้งฉางของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน อีกทั้งยังมีกรณีที่ชาวบ้านที่เป็นชุมชนดั้งเดิมถูกจับกุมดำเนินคดีในพื้นที่ไร่หมุนเวียน เกิดเป็นคดีความจนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมจำนวนมากมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ชี้ขอทำกินแบบที่ดินแปลงรวม 


ต่อมาชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในการจัดการพื้นที่ทำกินแบบแปลงรวมเพื่อทำไร่หมุนเวียน โดยการมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานกับชุมชนกะเหรี่ยง แต่การยื่นข้อเสนอดังกล่าวยังไม่เกิดผลที่จะนำไปสู่การจัดการที่ดินแบบแปลงรวมของชุมชน

เนื่องจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปฏิเสธข้อเสนอในการจัดการที่ดินเพื่อทำไร่หมุนเวียนแบบแปลงรวมของชุมชน โดยอ้างว่าให้สิทธิแก่ชุมชนกะเหรี่ยง จะต้องทำด้วยเงื่อนไขการให้เป็นรายแปลงรายบุคคล และจะต้องขอดำเนินการรังวัดให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน เท่านั้น มิฉะนั้นจะถือเป็นการสละสิทธิในที่ดิน

แต่ชาวบ้านกลับเห็นว่า การจัดสรรที่ดินให้กับชุมชนในผืนป่าแก่งกระจาน ด้วยการให้สิทธิเป็นรายบุคคลในแต่ละแปลงแยกจากกันไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมลงของทรัพยากรป่าไม้ และไม่สามารถดำรงวิถีทางวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้ และชาวบ้านเห็นความสำคัญของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมในการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ โดยยึดหลักตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค.2553 เรื่องแนวทางการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จึงขอความชัดเจนในประเด็นนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง