วันนี้ (31 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เป็นความร่วมมือกันของเครือข่ายแรงงานหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการสมาน ฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
ซึ่งจากการเปิดรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือน 5 เม.ย.ที่ผ่านมา พบจำนวนผู้ร้องทุกข์ทั้งหมด 1.3 ล้านคน เจอปัญหาหลายอย่าง เช่น หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 79/1 ถูกบีบ บังคับให้เขียนใบลาออก ถูกลด ค่าจ้าง ลดสวัสดิการและเปิดโครงการสมัครใจลาออก-เลิกจ้าง
จากการเปิดรับเรื่องดังกล่าว จึงยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้ดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วน โดยขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน และลูกจ้างนัดหยุดงานทั่วราชอาณาจักร ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อการจัดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน
กรณีที่รัฐบาล หรือนายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากเหตุสุดวิสัยให้จ่ายค่าจ้าง ร้อยละ 75 ของค่าจ้างก่อนถูกปิดงาน ขอให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าที่อยู่อาศัย ให้กับผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไปรายละ 1,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะพ้นวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และขอให้สถาบันการเงิน พักชำระหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ย กรณีที่กำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ตลอดระยะเวลาจนกว่าจะพ้นวิกฤตโรค COVID-19
สำหรับข้อเรียกร้องดังกล่าวเครือข่ายแรงงานได้ยื่นรัฐบาลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน แต่พบว่า ข้อเรียกร้องบางข้อยังไม่ได้รับการดำเนินการ ส่วนศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของเครือข่ายแรงงาน ได้ปิดลงแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทีดีอาร์ไอประเมินสิ้นปี 63 คนไทยตกงานเกือบ 4 ล้านคน