นายกฯสั่งยกเครื่องระบบข้าราชการไทย นำระบบดิจิตอลมาใช้ หวังลด ขรก.

การเมือง
7 ก.ย. 63
13:11
90,246
Logo Thai PBS
นายกฯสั่งยกเครื่องระบบข้าราชการไทย นำระบบดิจิตอลมาใช้ หวังลด ขรก.
นายกฯสั่งยกเครื่องระบบราชการไทย นำระบบดิจิตอลมาใช้ หวังลดจำนวนข้าราชการ สร้างระบบราชการใหม่ หลังพบงบบุคลากรภาครัฐปี 64 สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท

ถือเป็นการบ้านชิ้นสำคัญ ในการประชุมระดับปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการ ครั้งล่าสุด ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยิบยกปัญหางบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐ ที่สูงขึ้นทุกปี โดยปีงบประมาณ 2564 มีงบดังกล่าวสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท จากวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมด

พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ( ก.พ.ร.) เร่งแก้ปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างราชการ –จัดองค์กรครั้งใหญ่ โดยให้นำระบบดิจิตอลมาใช้ เพื่อลดจำนวนข้าราชการ หวังสร้างระบบราชการใหม่ที่เหมาะสมกับอนาคตประเทศ ปรับการปฏิบัติงานให้สอดคล้อง New Normal

ถึงแม้ที่ผ่านมา การแก้ปัญหางบบุคลากรรัฐ จะมีความพยายามดำเนินการในหลายวิธี ทั้งการออกมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 - 2565) เพื่อควบคุมการเพิ่มจำนวนของข้าราชการ รวมถึงการยุบตำแหน่งหลังเกษียณ ,เกลี่ยอัตรากำลังแทนการรับใหม่ รวมการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ดูเหมือนว่าในภาพรวมจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะหากมองย้อนกลับไป 2 ปี จะพบได้ว่างบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐ ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม กล่าวคืองบประมาณ ปี 2562 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐ 1,188,532.1 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมดจำนวน 3 ล้านล้านบาท และงบประมาณ ปี 2563 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐ 1,193,038.5 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 3.2 ล้านล้านบาท

จากข้อมูลสำนักงาน ก.พ. พบว่า ปัจจุบันภาครัฐมีกำลังคน ทั้งหมดประมาณ 2.3 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.04 ต่อปี สำหรับจำนวนข้าราชการมีประมาณ 1.3 ล้านคนและข้าราชการพลเรือนประมาณ 390,000 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีมากถึงร้อยละ 35 ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่รัฐบาลต้องการลดให้ได้เหลือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

เรื่องดังกล่าว ม.ล.พัชรภากร เทวกุล เลขาธิการ ก.พ.เปิดเผยว่า เรื่องการดำเนินการเพื่อเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิตอลเป็นเรื่องที่ทางสำนักงาน ก.พ.หารือกับสำนักงาน ก.พ.ร.อยู่ตลอด และเห็นตรงกันในเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิตอล มาใช้ในระบบราชการเพราะรูปแบบการทำงานราชการและพฤติกรรมของประชาชนผู้มารับบริการเปลี่ยนไป เมื่อมีดิจิตอลเทคโนโลยีเข้ามา การคาดหวังของประชาชนที่มารับบริการไม่ได้มีจำกัดเฉพาะเวลาราชการ 8.30 - 16.30 น.เท่านั้นแต่ควรต้องติดต่อได้ตลอด 24 ช.ม. ดังนั้น สำนักงาน ก.พ. มองว่า ต้องเปลี่ยนเป็นแนวคิดที่จะลงทุนในดิจิตอลเทคโนโลยีแทนกำลังคน รวมถึงเพิ่มทักษะและสมรรถนะด้านดิจิตอลเทคโนโลยีให้กับข้าราชการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำงานของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รูปแบบหนึ่งที่ที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาใช้ คือ การทำงาน Work Form Home ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ถือเป็นตัวอย่างประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยผลสำรวจจากข้าราชการ กว่า 68,000 คน ส่วนใหญ่เห็นว่ารูปแบบการทำงานดังกล่าว ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานไม่ลดลง ทั้งนี้คาดว่า ไม่เกินสิ้นปีนี้ ทาง ก.พ.จะสรุปเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อปรับแก้ระเบียบ กฏหมายให้สอดรับกับการทำงานของข้าราชการในรูปแบบใหม่ที่มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของกำลังคนภาครัฐที่มีอยู่ ก็มีการทยอยปรับจากการรับเงินเดือนของข้าราชการ เป็นการทำสัญญาจ้าง ตามภารกิจและลักษณะของงานแทน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการจ้างงานอาจสูงถึง 20 ล้านบาทต่อข้าราชการ 1 คน โดยวิธีนี้ในต่างประเทศจะสามารถลดต้นทุนค่าใช่จ่ายด้านบุคลากรไปได้กว่าครึ่ง รวมถึงการจัดทำหลักสูตรรับคนรุ่นใหม่เข้ารับราชการ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเปิดให้บรรจุบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญงานสูงเข้ารับราชการ

คาดว่าในระยะ 3 ปี จะยังคงเป้าหมายในการลดกำลังคนไว้ก่อน คือไม่เพิ่มหรือไม่ลดลงไปกว่านี้ เพื่อพิจารณาว่าการพัฒนากำลังคนภาครัฐ และการลงทุนในการนำเทคโนโลยีมาใช้ คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้จ่ายแต่ละปี หรือไม่

ขณะที่ น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่รับผิดชอบงานด้านบริการภาครัฐ กล่าวว่า ขณะนี้มีการนำระบบดิจิตอลมาใช้ในการให้บริการภาครัฐ หรือ E-Service ดำเนินการแล้ว 280 แห่ง โดย 75 งานบริการสามารถให้บริการได้ตลอดอีก 80 ยังเป็นแค่การไปยื่นคำขอทิ้งไว้ แต่ตัวก็ยังต้องไปที่หน่วยงานหรือที่ศูนย์ฯที่ให้บริการอยู่ดี

ส่วนอีกประมาณซัก 125 เป็นการยื่นคำขอและชำระเงินที่เรียกว่า E -payment ผ่านระบบได้ เนื่องจากงานบริการภาครัฐมีจำนวนมากเท่านี้ยังไม่เพียงพอ ทาง ก.พ.ร.จึงอยู่ระหว่างขยายการให้บริการอย่างทั่วถึงเพิ่มมากขึ้น และเตรียมพัฒนาให้บริการตลอด 24 ชม.และเพื่อรองรับรูปแบบดังกล่าว ยังเตรียมเสนอปรับรูปแบบการทำงานของข้าราชการที่ให้บริการ โดยอาจจะใช้วิธีนับชั่วโมงในการทำงานแทน

เมื่อนำดิจิตอลมาใช้ผู้ที่เคยมีหน้าที่พิมพ์หรือจัดเก็บข้อมูล ต้องผันตัวเองมาเป็นผู้ตรวจสอบ โดยตรวจสอบจนกว่าระบบนั้นจะเสถียร ดิฉันก็มองว่าสุดท้ายจะมีงานอะไรที่เหลืออยู่ ในภาครัฐบ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะภาครัฐมีขนาดใหญ่มาก ตอนนี้ดิฉันทำการศึกษาอยู่ แต่ก็คงใช้นำร่องก่อนไม่กี่กรม ซึ่งในต่างประเทศมีหลายโมเดล เช่น ภาครัฐเป็นคนลองทำก่อนเมื่อสำเร็จแล้วค่อยส่งให้ภาคเอกชน

ขณะนี้ที่เข้าไปศึกษา มีกรมที่ดิน เพราะเป็นกลุ่มที่ให้บริการเกี่ยวกับเรื่องของการประกอบธุรกิจเยอะมาก และเกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชน และ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวสตาร์ทอัพกับเอสเอ็มอี ซึ่งอธิบดีทั้ง 2 กรมมีความพร้อม นอกจากนี้ ในระยะยาว เตรียมขยายการให้บริการ E-Service ลงไปในพื้นที่ต่างๆอย่างทั่วถึง โดยจะเริ่มจากจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.ที่มีความพร้อม สามารถสร้างแพตฟอร์ม ใช้ระบบเชื่อมโยง นำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการช่วยเหลือประชาชนต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง