วันนี้ (21 ก.ย.2563) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาวิปวุฒิ กล่าวว่า เช้าพรุ่งนี้ จะมีการประชุม วิป 3 ฝ่าย หลังจากในเวลา 15.00 น. วิปวุฒิจะมีการประชุมเพื่อวางแนวทางก่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ เช่นการเตรียมการในการตั้งกรรมาธิการในวาระที่ 2 หรือในกรณีไม่มีการลงมติแต่ให้มีการตั้งกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ นอกจากนี้ ยังจะต้องหารือเรื่องการจำกัดเวลาในการอภิปราย
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่อาคารรัฐสภา ช่วงเช้าวันนี้ คณะกรรมการวิขาการของวุฒิสภา มีการพูดคุยระหว่างสมาชิกวุฒิสภา หรือ “มอร์นิ่ง ทอล์ก” โดยมีนาย ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา เป็นประธาน โดยหารือในประเด็น 6 ญัตติของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มีการพิจารณาในการประชุมร่วมรัฐสภา 23 -24 ก.ย.นี้ โดยมี นาย สมชาย แสวงการ และเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิ เป็นผู้นำการพูดคุย
การพูดคุยเริ่มจากสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง จากนั้นก็มาพูดคุยกันว่า เหมาะสมหรือไม่ที่ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน 750 คน จะมาเสนอแก้ไขกันเอง โดยไม่ถามประชาชน ที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้ง 16.8 ล้านคน ดังนั้นควรกลับไปถามหรือทำประชามติ กับประชาชนเหล่านั้น ว่าควรจะแก้หรือไม่
ประชาชนเป็นเจ้าของบ้าน เราเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย จู่ๆ ผู้อยู่อาศัยจะมารื้อบ้านโดยไม่บอกเจ้าของบ้านเขาเลย ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประชาชนเห็นด้วย 16.8 ล้านเสียง จะแก้หรือไม่ และแก้อย่างไร จู่ๆ ส.ส. สว. รวมกัน 750 เสียง มาเสนอญัตติของแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันถูกหรือเปล่า จะมารื้อบ้านที่ประชาชน เขาปลูกให้เราอยู่ เราจะไม่ถามเจ้าของบ้านเขาก่อนหรือ
ขณะนี้ทุกคนจะมาทำตามใจตัวเองตามลำพังแล้วบอกว่า เป็นคนกลุ่มหนึ่งคงไม่ได้ โดยเฉพาะตอนนี้ ที่มีคนที่เกี่ยวพันกับการแก้รัฐธรรมนูญ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งต้องการแก้ไปล่ารายชื่อมา 50,000– 100,000 คนมา อีกกลุ่มหนึ่งไม่ต้องการให้แก้ก็ไปล่ารายชื่อและได้เสียงมาพอๆ กัน แล้วอย่างนี้จะเอาอย่างไร
“ประเด็นในการพูดคุยในครั้งนี้ ไม่อยู่ที่จะแก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. หรือ แก้มาตรา 272 ที่จะปิดสวิตซ์ ส.ว. หากจะมาถาม ลงรายละเอียดจะแก้มาตราไหนบ้าง ควรจะเริ่มต้นที่ว่าควรแก้หรือไม่ แล้วได้กลับไปถามประชาชนที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือไม่ ว่าเขาต้องการให้แก้หรือไม่ ไม่ใช่จะมาจะเอาเสียงประชาชนมาบีบบังคับให้แก้ตามใจตัวเอง คงไม่ได้หรอก อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เขาก็รวบรวมเสียงมาได้เช่นกัน”
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีประโยชน์กับสังคมมากที่สุด เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ไม่ให้ส.ส.-ส.ว.เข้ามายุ่งเกี่ยวกับงบประมาณที่ลงจังหวัด อีกทั้งยังมีข้อกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญ ทำได้ยาก ที่สำคัญตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มา ยังไม่มีการวิเคราะห์หรือประเมินผลข้อดี-ข้อเสีย ว่า มาตราไหนมีบ้าง แล้วจะมาบอกให้แก้อย่างไร ตรงไหน
ทั้งนี้ หลังจากมีการพูดคุยกัน ส.ว.หลายกลุ่มก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะเห็นด้วย แต่บางส่วนก็เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างนี้ ยิ่งจะไปกันใหญ่ อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่าเสียงส.ว.ในครั้งนี้ จะไม่เป็นเอกภาพ และค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยงต่อการรวบรวม 84 เสียงของ ส.ว.ที่ต้องเห็นด้วยกับการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในการประชุมวิป 3 ฝ่ายวันพรุ่งนี้ จะมีการหารือเรื่องกระบวนการว่าจะพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง คาดว่าจะมีการเสนอให้พิจารณาไล่เรียงไป ซึ่งร่างที่ 1 และร่างที่ 2 ที่ให้แก้ 256 ตั้งส.ส.ร. มีหลักการใกล้เคียงกัน อาจจะเสนอพิจารณารวมกัน แต่แยกลงมติที่ละร่าง โดยอาจจะให้มีการขานชื่อเพียงครั้งเดียวเพื่อลดระยะเวลา
ทั้งคาดว่าในประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 23 ก.ย.จะเริ่มจากการที่สมาชิกบางคนหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาหารือ โดยเฉพาะ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทางประธานสภาไม่ได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระ และจะต้องบริหารเวลาอย่างเข้มงวด เพราะเวลามีจำกัด โดยคาดว่าแต่ละร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าประมาณ 3 ชั่วโมง