ความหมาย-ที่มาของคำว่า "หักหัวคิว"

ภูมิภาค
2 ต.ค. 63
09:39
5,197
Logo Thai PBS
ความหมาย-ที่มาของคำว่า "หักหัวคิว"
คำว่า “หักหัวคิว” ปรากฏอยู่ในข่าวตรวจสอบทุจริต กลโกงในวงการต่างๆ โดยเฉพาะในวงการรับเหมาขุดลอก หรืองานก่อสร้างที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน

เมื่อค้นในเว็บไซต์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา พบคำว่า “ค่าหัวคิว” หรือ “กินหัวคิว” จะหมายถึง การเรียกร้องเอาเงินหรือผลประโยชน์จากผู้ดำเนินกิจกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลในเรื่องนั้นๆ เพื่อแลกกับความสะดวกหรือสิทธิ ในการดำเนินกิจกรรมก่อนผู้อื่น

เช่น มีข่าวว่าคนที่กู้เงินจากกองทุนถูกหักค่าหัวคิวไปคนละ 15 เปอร์เซ็นต์.  ถ้าแผนกได้รับงบประมาณครั้งนี้ หัวหน้าแผนกคงได้ค่าหัวคิวไม่น้อย เธอจะขับรถมอเตอร์ไซค์ในซอยนี้ก็ได้แต่ต้องจ่ายค่าหัวคิวมาก่อน เขากินหัวคิวพวกเราไปแล้วคนละสามพันเพราะเราอยากได้เงินกู้เร็วๆ 

การหักหัวคิว อาจเกิดขึ้นในสังคมไทยมาช้านาน

ที่มาของคำว่า "หักหัวคิว" หรือ "กินหัวคิว" ในมุมมองของนายโยธิน วรารัศมี ที่ปรึกษามูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต จ.ขอนแก่น เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน และเป็นความทรงจำวัยเด็ก ที่เขาไม่เคยลืม

 

เขาเล่าว่า นโยบายผันเงิน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคกิจสังคมภายใต้การนำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน พ.ศ.2518 ทำให้ เกิดการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาชนบทหรือการผันงบประมาณสู่ท้องถิ่นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการผันเงินคือ โครงการขุดแหล่งน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง

ช่วงวัยเด็กของโยธิน เขา ตามพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ไปขุดดิน ในโครงการขุดแหล่งน้ำ เป็นการใช้แรงคนขุด

สมัยนั้นจัดสรรโครงการโดยกำหนดปริมาณเป็น คิวดิน คือ ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันจะไปเอาโครงการมาจากอำเภอ เรียกว่าไปเอาหัวคิวมา เพื่อจ้างชาวบ้านขุดดินตามจำนวนคิวดินที่โครงการกำหนด เช่น โครงการสระน้ำหมู่บ้านขุด 500 คิวดิน โดยขุดดิน 1 คิว เท่ากับ ดิน 1 ลูกบาศก์เมตร

สมัยนั้น มีปัญหาโกงค่าแรง ที่เรียกว่า การหักค่าหัวคิว (ดิน) เนื่องจากการขุดสมัยนั้นจะใช้ไม้ไผ่ขนาด 1 เมตร เพื่อวัดพื้นที่ดิน ความกว้าง ยาวและลึก ให้ได้ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1 คิวดิน แต่ไม้ไผ่ 1 เมตร ที่ชาวบ้านได้รับแจก เมื่อนำไปวัดจริงๆ กลับยาวถึง 1 เมตร 20 เซ็นติเมตร หรือ บางโครงการไม้ที่วัดอาจยาวถึง 1 เมตร 50 เซ็นติเมตร เป็นวิธีการโกงค่าแรงชาวบ้าน โกงค่าแรงขุดดิน เพราะชาวบ้านขุดได้ปริมาณดินมากกว่า จำนวนคิวดินที่ภาครัฐจ่ายค่าแรง

นี่คือที่มาของคำว่า หักหัวคิว ในมุมมองของโยธิน วรารัศมี ที่ปรึกษามูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต จ.ขอนแก่น

 

ปัจจุบัน โครงการขุดลอก ผู้ที่ถูกหักหัวคิว คือผู้รับเหมารายย่อย ที่ให้ข้อมูลว่า โครงการที่มีงบประมาณ 500,000 บาท ผู้ที่ขุดลอกจริง อาจได้แค่ 170,000 บาท หรือ  200,000 บาท เงินอีก 300,000 อยู่ที่ไหน หักหัวคิวไปให้ใคร ยังเป็นปริศนา เพราะยังไม่มีใครกล้าพูดความจริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง