THE EXIT : ค้านประทานบัตรเหมืองแร่เขาหลัก

Logo Thai PBS
THE EXIT : ค้านประทานบัตรเหมืองแร่เขาหลัก
ชาวบ้าน ต.บ้านทำเนียบ คัดค้านการต่ออายุสัญญาประทานบัตร 30 ปี ในการทำเหมืองแร่หินปูนของ บริษัท สุราษฎร์ผาทอง ในพื้นที่ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี หลังกังวลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมองว่าขั้นตอนการทำ EIA ขาดการมีส่วนรวมของคนในพื้นที่ ติดตามใน THE EXIT

วันนี้ (9 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหมืองแร่หินปูนเขาหลัก เนื้อที่กว่า 243 ไร่ ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ปัจจุบัน บริษัท สุราษฎร์ผาทอง จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรใหม่ในเขตพื้นที่เดิม เลขที่ 16/2557 หลังหมดอายุสัญญามาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2561 ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หลังมีชาวบ้านหมู่ 1 ต.บ้านทำเนียบ รวมตัวคัดค้านผลการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โดยเฉพาะขั้นตอนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น

ชาวบ้านร่วมลงมติเพียง 221 คน

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า วันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้านใช้เวทีประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน เปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่องการขอประทานบัตรใหม่ของเหมืองแร่หินปูน โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ได้รับทราบอย่างทั่วถึงว่าจะมีการเปิดรับฟังความเห็นเรื่องนี้ จากการตรวจสอบรายชื่อ พบมีผู้เข้าร่วมประชุม 221 คน จากผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดกว่า 600 คน โดยมีมติออกมาว่าเห็นด้วย 147 คน และไม่เห็นด้วย 63 คน

 

 



ชาวบ้านกลุ่มคัดค้าน มองว่า การที่คนเข้าร่วมประชุมไม่ถึงครึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และไม่มีการแจ้งให้ทราบอย่างทั่วถึง คือความผิดปกติของขั้นตอนการทำ EIA ขณะที่ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันว่าเป็นไปตามขั้นตอน จึงเป็นเหตุให้ตัวแทนชาวบ้าน หมู่ 1 ต.บ้านทำเนียบ เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำ EIA ใหม่ทั้งหมด

ยื่นขอทำเหมืองแร่หินปูนอีก 30 ปี

จากข้อมูลพบว่า ขอบเขตพื้นที่ทำเหมืองแร่หินปูนของบริษัท สุราษฎร์ผาทอง จำกัด เดิมอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ครบอายุสัญญาในปี 2561 บริษัทจึงได้ยื่นขอประทานบัตรใหม่ในเขตพื้นที่เดิม ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ซึ่งหากได้รับประทานบัตร จะทำให้มีอายุสัญญาอีก 30 ปี

 

 



เอกสารการยื่นขอประทานบัตรใหม่ บริษัทได้ขอขยายแนวเขตเพิ่มเติม และปรับรูปแผนที่ในการทำเหมืองแร่หินปูน โดยบริษัทอ้างว่าทั้งหมดเป็นไปตามหลักวิศวกรรมเหมืองแร่ ทำให้แผนที่ใหม่ทำเหมืองแร่ใหม่ มีขอบเขตขยายขึ้นไปด้านบนเขาหลักในรูปแบบขั้นบันได และบางส่วนขยายเข้าไปในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 1 เป็นเหตุให้ต้องจัดทำ EIA ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ด้วย

ชาวบ้านร้องขั้นตอน EIA ไม่ชัดเจน

แต่ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของกระบวนการทำ EIA จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านอ้างว่า หลายขั้นตอนมีความไม่ชัดเจน ทั้งกรณีแนวเขตแผนที่ฉบับใหม่ ที่ระบุใน EIA กับข้อมูลที่ชาวบ้านได้รับไม่ตรงกัน รวมถึงข้อสงสัยในประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน หลังกรมที่ดินตรวจสอบพบ พื้นที่ ต.บ้านทำเนียบทั้งหมดกว่า 60,000 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ นสล. เหตุใดก่อนหน้านี้ จึงมีการอนุญาตทำเหมืองแร่หินปูนเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยตัวแทนบริษัทได้ชี้แจงข้อสงสัยนี้ว่า ทางบริษัทไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์

 

 


นายชาญวิทย์ สิรภักดี นายอำเภอคีรีรัฐนิคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาอำเภอไม่ทราบถึงขั้นตอน การจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นกรณีการขอประทานบัตรใหม่ของบริษัท สุราษฎร์ผาทอง จำกัด เนื่องจากอุตสาหกรรมจังหวัดอ้างว่าเป็นการขอใช้กฎหมายกรณีพิเศษ ความรับผิดชอบในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จึงเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านทำเนียบ โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำหนังสือและประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้ชาวบ้านร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น

อ้างการทำเหมืองไม่กระทบต่อชุมชน

แม้ที่ผ่านมา บริษัท สุราษฎร์ผาทอง จำกัด จะพยายามชี้แจงว่า "กระบวนการทำเหมืองและการโม่หิน" จะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เพราะมีระบบควบคุมและป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในมุมของชาวบ้าน เชื่อว่าหากบริษัทได้รับใบอนุญาตประทานบัตร ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี ย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

 

 


สำนักสงฆ์บ้านทำเนียบธรรม เป็นจุดที่อยู่ห่างจากแนวเขตแผนที่ใหม่เพียง 500 เมตร ผลจากการระเบิดหินของเหมืองแร่ที่ผ่านมา ส่งผลให้กุฏิภายในวัดเกิดการแตกร้าวหลายจุด ยิ่งทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจและไม่เชื่อมั่นตามที่บริษัทชี้แจง นอกจากนี้ ทัศนียภาพ ความสวยงามของเขาหลัก สัญลักษณ์ของหมู่บ้าน ยังเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต่างกังวลว่าหากมีการขยายแนวเขตเพิ่มเติม จะส่งผลให้ภูเขาเกิดความเสียหาย รวมถึงชุมชนโดยรอบรัศมี 500 เมตร

เสนอตรวจสอบการทำ EIA ใหม่ทั้งหมด

พวกเขาจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการทำ EIA ใหม่ทั้งหมด พร้อมเสนอให้บริษัทขยับแนวเขตขอประทานบัตร ให้ครอบคลุมเฉพาะแนวพื้นที่ หมู่ 7 ซึ่งเป็นแนวเขตเหมืองเดิม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้กับทั้ง 2 ฝ่าย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง