กังขา! ขุดลอกร่องน้ำอ่าวกันตังกระทบหญ้าทะเลตาย 1,000 ไร่

สิ่งแวดล้อม
12 ต.ค. 63
18:15
2,149
Logo Thai PBS
กังขา! ขุดลอกร่องน้ำอ่าวกันตังกระทบหญ้าทะเลตาย 1,000 ไร่
ชาวเกาะลิบง อ.กันตังจ.ตรัง เรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหาหญ้าทะเลเน่าตาย ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของพะยูนฝูงสุดท้าย 200 ตัว คาดเป็นผลกระทบจากกรมเจ้าท่า ขุดลอกร่องน้ำบริเวณอ่าวกันตัง และนำตะกอนดินมาทิ้งใกล้แหล่งหญ้าทะเล นักอนุรักษ์ชวนลงพื้นที่ 16 ต.ค.นี้

วันนี้ (12 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และเครือข่ายประมงพื้นบ้าน สำรวจแหล่งหญ้าทะเลบริเวณอ่าวทุ่งจีน อ.กันตัง จ.ตรัง พบใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เริ่มเน่าตายเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากน้ำทะเลมีลักษณะเป็นตะกอนขุ่น

ชาวบ้านอ้างว่า สาเหตุเกิดจากกรมเจ้าท่า ทำการขุดลอกร่องน้ำ บริเวณอ่าวกันตัง แล้วนำตะกอนดินไปทิ้งใกล้กับแหล่งหญ้าทะเล เมื่อเกิดพายุทำให้คลื่นพัดตะกอนดินทับถมหญ้าทะเล กระทบต่อแหล่งอา หารของพะยูน อาจทำให้พะยูนในเกาะที่มีอยู่ประมาณ 180 ตัว อพยพไปและอาจสูญพันธุ์ในอนาคต

สอดคล้องกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง ที่สำรวจติดตามประเมินสถานภาพพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ระหว่างวันที่ 5 -7 ต.ค.ที่ผ่านมา พบร่องรอยพะยูนเข้ามาหากินน้อยลง และบางหาดไม่พบร่องรอย จากเดิมที่เคยพบจำนวนมาก สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการที่นำตะกอนดิน ไปทิ้งในทะเล

ทั้งนี้ชาวบ้านเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอกันตัง กรมเจ้าท่า และสำนักงานเทศบาล เพื่อเรียกร้องให้ยุติโครงการขุดลอกแม่น้ำตรัง และนำดินโคลนมาทิ้งในทะเล หลังพบว่าหญ้าทะเลเสียหาย ตายกว่า 1,000 ไร่ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะลิบง ซึ่งคิดเป็น 50% ของปริมาณหญ้าทะเลทั้งหมดบนเกาะ โดยจะยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรังด้วย เพื่อร้องเรียนให้มาตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

ภาพ : เฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua

ภาพ : เฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua

ภาพ : เฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua

เรียกร้องยุติทำลายแหล่งหญ้าทะเล-บ้านพะยูน

ขณะที่เฟซบุ๊กของ บัณฑิตา ฮาริ อย่างดี  โพสต์เฟซบุ๊กว่า  หยุดทิ้งโคลนบ้านพะยูน​เกาะลิบง เกาะลิบง เป็นบ้านที่ปลอดภัยของพะยูนไหม อาจจะไม่ปลอดภัย เนื่องจากแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นบ้านและอาหารของพะยูนกำลังถูกทำลายจากการนำโคลน (ดินทรายตะกอนดิน) มาทิ้งบริเวณเกาะลิบง ภายใต้โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง

ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีส่วนร่วมในการดูแลพะยูนและหญ้าทะเลมาโดยตลอดได้ร้องเรียนหน่วยงานรัฐให้แก้ไขปัญหา เป็นเวลาประมาณ 2-3 เดือน แต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาแล้วแผนอนุรักษ์​พะยูน​จะมีประโยชน์​อะไร​?

ข้อมูล ระบุว่าปัจจุบันมีพะยูนในไทยประมาณ 250 ตัว ประมาณ 70% พบในบริเวณทะเลจ.ตรัง พะยูนตรังเพิ่มขึ้น จากจำนวน 125 ตัว ในพ.ศ.2556 เป็น 185 ตัว ในปี 2562 ร่างแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ มีเป้าหมายให้พะยูนเพิ่มขึ้นจาก 250 ตัว เป็น 280 ตัวในเวลา 3 ปี จากการสำรวจพะยูน ล่าสุดพบพะยูนบริเวณแหลมจูโหย เกาะลิบง 30 ตัว (จากเพจศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง) วันที่ 22 เม.ย.63

ภาพ : เฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua

ภาพ : เฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua

ภาพ : เฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua

ชวนสำรวจหญ้าทะเล 16 ต.ค.นี้ 

นอกจากนี้ แหล่งหญ้าทะเลเป็นบ้าน และแหล่งอาหารของพะยูน หญ้าทะเลบริเวณทุ่งจีน หาดมดตะนอย หน้าแหลมจุโหย มีเนื้อที่ 7,000 ไร่ จากพื้นที่หญ้าทะเลผืนใหญ่ในตรัง  18,000 ไร่ นอกจากนี้จากกระแสมาเรียม พะยูนน้อย พลัดหลงจากแม่หลังจากเกยตื้น และถูกนำมาเลี้ยงที่เกาะลิบง ส่งผลให้พะยูนถูกให้ความสำคัญ มีการกำหนดวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ วันที่ 17 ส.ค.มีการยกร่างแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ มีการผลักดันให้เกาะลิบงเป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเชิงนิเวศแห่งอาเซียน ในส่วนสำนักข่าวต่างชาติ CNN ได้ยกเกาะลิบงเป็นสวรรค์สำหรับพะยูนไทย

เช่นเดียวเฟซบุ๊กของนายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ  Chainarong Setthachua นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม โพสต์ว่า วันที่ 16 ต.ค.นี้ ยามบ่าย ชาวบ้านนัดกันออกไปสำรวจเก็บรายละเอียดความเสียหายของแนวหญ้าทะเลที่ จ.ตรังขอเขิญสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมทำข่าวและร่วมกิจกรรมครับ

 

 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง