วานนี้ (16 ต.ค.2563) หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานสถานการณ์การประท้วงที่ตึงเครียดในกรุงเทพฯ เมื่อผู้ประท้วงหลายพันคนมาชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า เป็นครั้งแรกที่ตำรวจปราบจลาจลฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงกลุ่มผู้ประท้วงเพิกเฉยต่อการประกาศห้ามการชุมนุม แล้วออกมารวมตัวกันในช่วงบ่าย ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและนักเรียน

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์และเอพีต่างนำเสนอภาพข่าวการเผชิญหน้ากันระหว่างตำรวจกับกลุ่มผู้ประท้วง โดยระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามต้านทานการรุกคืบของตำรวจที่เคลื่อนกำลังเข้าเคลียร์พื้นที่การชุมนุม
ด้านสำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยประมาณ 3,000 คน ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกมาชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุมในก่อนหน้านี้

UN วิตกรัฐไทยตั้งข้อหาหนัก - สลายการชุมนุม
ส่วนองค์การสหประชาชาติแสดงความวิตกอย่างยิ่งกรณีการสลายการชุมนุมในไทยและการตั้งข้อหาหนักกับผู้ประท้วงที่ชุมนุมกันอย่างสันติ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การรับรองว่าจะไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ของประชาชน
ขณะที่เจ้าหน้าที่พิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพทวีตข้อความแสดงความวิตกอย่างยิ่งกรณีการสลาย กลุ่มผู้ประท้วงในไทย รวมถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการจับกุมแกนนำ ซึ่งเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการชุมนุม นอกจากนี้ยังระบุว่ารัฐบาลไทยต้องเปิดทาง ให้ผู้ประท้วงแสดงออกถึงสิทธิ และขอให้แก้ปัญหาด้วยการเจรจา ไม่ใช่การปราบปราม
I’m very worried about the information on crackdown on protesters in #Thailand.The “severe state of emergency”declared &the arrests in Bangkok are stifling freedom of assembly. The government needs to allow protesters to exercise their rights & seek dialogue, not suppress them.”
— UN Special Rapporteur Freedom of Association (@cvoule) October 16, 2020