กก.สมานฉันท์ส่อเค้า "ฝ่อ" เห็นภาพศึกนอก-ศึกในรัฐบาล

การเมือง
29 ต.ค. 63
09:54
187
Logo Thai PBS
กก.สมานฉันท์ส่อเค้า "ฝ่อ" เห็นภาพศึกนอก-ศึกในรัฐบาล
หลังจากพรรคเพื่อไทย ออกมาปฎิเสธที่จะขานรับการเข้าร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์ พร้อมยืนยันข้อเรียกของกลุ่มผู้ชุมนุม ดูเหมือนรัฐบาลกำลังเผชิญศึกนอก ศึกในสภา ไปพร้อมกัน

หากจะเรียกว่า แนวคิดในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นผลพวง จากการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่ออภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 เพื่อหาทางออกประเทศ ...คงไม่ผิดนัก

และจากบทสรุป ในครั้งนั้น ได้ส่ง “ไม้ต่อ” ให้รัฐสภา เป็นเจ้าภาพ และล่าสุด"ชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา ออกมา “รับลูก”

พร้อมระบุว่า ได้ประสานไปยังสถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้ศึกษารูปแบบตั้งคณะทำงานศึกษาสร้างความปรองดอง หาทางออกร่วมกัน พร้อมทั้งให้ออกแบบโครงสร้างของคณะทำงานฯชุดดังกล่าว

ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาดู “ต้นเรื่อง” ที่เป็นข้อเสนอของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ที่เห็นว่าทางออกของประเทศในขณะนี้ ควรต้องมีการเจรจา หรือ “จับเข่าคุยกัน” ซึ่งเป็นโมเดลที่เคยใช้เมื่อปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ

ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของ 7 ฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้แทนของรัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน, วุฒิสมาชิก, ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม, ฝ่ายที่เห็นต่างจากผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงวุฒิ

นั่นคือการ ทอดสะพานไปสู่สันติวิธี ที่หลายฝ่ายอย่างรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) กลัว “ตกขบวน” ต่าง รีบออกมาขานรับ

แต่ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่มี “แต้มต่อ” ในขณะนี้กลับมองว่า การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมของ การ “ซื้อเวลา” ซึ่งไม่ต่างจากการอภิปรายทั่วไปสมัยวิสามัญที่ผ่านมา

โดยเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ไม่เพียงจะออกมาปฎิเสธการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่ยังนำจุดยืนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มผู้ชุมนุม มายืนยันให้รัฐบาลรีบดำเนินการ นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก, ปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขังโดยไม่มีเงื่อนไขและสุดท้าย ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จโดยเร็ว

แถมเดินเกมรุก ด้วยการประกาศเก็บข้อมูล เพื่อเตรียมขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ขั้นตอนต่อไปในการประชุมสภาสมัยสามัญ ที่จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย.นี้

นั่นเท่ากับว่า พรรคเพื่อไทย ปิดประตูตายกับการร่วมเจรจา เป็นการประกาศ “จุดยืน” เคียงข้างกับกลุ่มผู้ชุมนุม เตรียมเปิดศึกกับรัฐบาล ทั้งเกมในและเกมนอกอย่างชัดเจน

งานนี้ “ได้ใจ” “เก็บแต้ม” ช่วงชิงคะแนน จากกลุ่มผู้ชุมนุม ไปเต็มๆ

และเมื่อเป็นเช่นนี้ ยิ่งทำให้ทางออกของรัฐบาล ค่อนข้างตีบตัน ถึงแม้นายกฯ จะออกมาเรียกความเชื่อมั่นและขอความมั่นใจ ให้ร่วมมือกันช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ แถมพ่วงกับการยอมที่จะแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ก็ตาม

แต่ดูเหมือน ช้าไปหรือไม่ ตรงกันข้ามกับการขานรับข้อเรียกร้องและแนวร่วมของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

งานนี้คงต้องจับตา ดูบทสรุปสุดท้าย ว่าจะจบอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง