สดร.ชี้แสงสีเขียวเหนือน่านฟ้าไทย แค่แสงจาก "เรือไดหมึก"

Logo Thai PBS
สดร.ชี้แสงสีเขียวเหนือน่านฟ้าไทย แค่แสงจาก "เรือไดหมึก"
นักวิจัยสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) อธิบายข้อมูลแสงสีเขียวส่องสว่างเหนือขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันตกของไทย ที่แท้เป็นแค่แสงไฟจากเรือไดหมึก ไม่ใช่ไฟร์บอล และไม่ใช่แสงออโรร่า

วันนี้ (29 ต.ค.2563) เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)เผยข้อมูลกรณีชาวระนองในหลายหมู่บ้านปากคลอง ต.ปากน้ำ ต.บางริ้น ต.หงาว พบเห็นแสงสีเขียวครอบคลุมท้องฟ้าทางทะเล สร้างฮืและตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอะไรกันแน่  ทั้งนี้ ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สดร.อธิบาย ดังนี้

ไม่ใช่ไฟร์บอล?

แสงสีเขียวนั้นเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากในธรรมชาติ สามารถเกิดขึ้นได้หากมีอุกกาบาตไฟร์บอลลูกใหญ่ๆ ที่มีโลหะนิกเกิลเป็นองค์ประกอบ สามารถส่องเป็นแสงสีเขียวได้ แต่ก็จะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีก่อนที่จะดับไป กรณีนี้จึง “เป็นไปไม่ได้”

ไม่ใช่แสงออโรร่า?

อีกความเป็นไปได้หนึ่งก็คือแสงจากออโรร่า ที่เปล่งออกมาเป็นสีเขียว แต่ออโรร่านั้นไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากแถบใกล้ศูนย์สูตรเช่นประเทศไทย ยกเว้นจะมีพายุสุริยะที่รุนแรงมาก ซึ่งก็จะต้องได้รับรายงานเห็นในที่ละติจูดที่สูงกว่ากรณีนี้จึง “เป็นไปไม่ได้” เช่นกัน

เป็นแสงที่มนุษย์สร้างขึ้น?

ความเป็นไปได้เดียวก็คือแสงที่มนุษย์สร้างขึ้น หากพิจารณาจากบริเวณริมชายฝั่งประเทศไทยที่มีการประกอบการประมงใช้ "เรือไดหมึก" ซึ่งปล่อยแสงสีเขียวสว่างจ้าไปทั่วท้องฟ้ากันเป็นประจำ คำอธิบายที่ชัดเจนและง่ายที่สุดก็คือ แสงสีเขียวที่เห็นนั้นมีเหตุมาจาก “แสงจากเรือไดหมึก” นั่นเอง

สามารถเปรียบเทียบได้กับภาพบนซ้ายที่ถ่ายไว้เองเมื่อปี 2014 จะเห็นได้ว่าไม่แตกต่างอะไรกันมากนักอาจบังเอิญว่าในวันนั้นสภาพอากาศทำให้แสงเรือไดหมึกสะท้อนออกมามากที่สุดก็ได้ ก็เลยดูแปลกตาเป็นพิเศษ

แสงสีเขียวลักษณะเดียวกันนี้เคยทำให้แตกตื่นกันไปถึงในอวกาศทีเดียว เพราะนักบินอวกาศที่ส่องลงมาจากสถานีอวกาศนานาชาติ ก็ต้องอึ้งกับแสงสีเขียวเหนือท้องทะเลไทยเช่นกัน 

สรุปสุดท้าย แสงสีเขียวที่เห็นแปลกตานั้น คือ แสงจากเรือไดหมึก หรือเรือตกปลาหมึก 
ภาพ: NASA

ภาพ: NASA

ภาพ: NASA

ทำไมเรือไดหมึกต้องใช้สีเขียว?

แสงสีเขียวมีความพิเศษอย่างไร? อเป็นคำถามที่น่าสนใจ ต้องพิจารณากันหลายแง่มุม เป็นคำถามที่ส่งเสริม STEM ศึกษาอย่างแท้จริง

ในเชิงฟิสิกส์ แสงสีเขียวมีคุณสมบัติพิเศษอย่างไรหรือไม่กับน้ำทะเล? เป็นช่วงความยาวคลื่นพิเศษที่ส่องได้ดีหรือเปล่า?

พบว่าแสงสีเขียวนั้นไม่ได้มีความพิเศษอะไร อยู่ตรงกลางๆ ของสเปกตรัม น้ำทะเลนั้นจะดูดกลืนแสงความยาวคลื่นมากได้ดีกว่า เป็นเหตุผลว่าทำไมน้ำทะเล จึงเป็นสีน้ำเงิน และเพราะเหตุใดสัตว์ใต้ท้องทะเลลึกจึงเป็นสีแดง เพราะแสงสีแดงนั้นไม่ตกถึงพื้นทะเลเลย ซึ่งถ้าพูดเช่นนั้นแล้วเราก็น่าจะอนุมานได้ว่าแสงสีน้ำเงินน่าจะส่องทะลุทะลวงได้ดีกว่า แล้วทำไมถึงไม่ใช้แสงสีน้ำเงิน

ในเชิงชีววิทยาเป็นไปได้ไหมที่แสงสีเขียวนี้เป็นแสงที่ตอบสนองได้ดีที่สุดในสัตว์จำพวกหมึก แต่ทำไมไฟมันถึงล่อหมึกได้?

ในงานวิจัยทีตีพิมพ์ในปี 1979 ได้ตั้งสมมติฐานการตอบสนองต่อแสงในสัตว์กลุ่ม Cephalopodd เอาไว้ 7 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1) positive phototaxis 2) intensity preference (brightness)
3) wavelength preference (color response) 4) conditioned or unconditioned response where light is associated with food 5) curiosity 6) photic disorientation 7) hypnosis แต่งานวิจัยไม่สามารถยืนยันได้ว่าเพราะเหตุใดหมึกจึงพุ่งมาหาแสงไฟ

ใช้ไฟล่อแมลง-ล่อหมึกติดกับ

สำหรับแมลงบนบกนั้น เราพอจะทราบว่าสาเหตุที่ "แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ" แท้จริงแล้วเป็นเพราะพวกมันพยายามใช้แสงจันทร์ในการนำทาง  เป็นไปได้ว่าสัตว์น้ำอาจจะใช้วิธีเดียวกัน นอกจากนี้เราทราบว่าเหล่าแพลงก์ตอนนั้นอาจจะถูกดึงดูดเข้าสู่แสงไฟ (แพลงก์ตอนส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ผลิตที่สังเคราะห์แสง) และอาจจะล่อฝูงปลาขนาดเล็กตามมา ซึ่งล่อนักล่าลำดับถัดไปในห่วงโซ่อาหาร เช่น หมึก ให้ตามมาอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถทราบเหตุผลที่แน่ชัดที่ดึงดูดหมึกมาได้

ทั้งแพลงก์ตอนและหมึก ต่างก็ถูกล่อได้ด้วยทั้งแสงสีฟ้า และสีเขียว ไม่ต่างกัน ถึงแม้ว่าเราจะใช้แสงสีอื่น เช่นแสงจากหลอดโซเดียมที่มีสีเหลือง เราก็จะพบว่าแสงเหล่านั้นก็จะยังสามารถกระตุ้นเซลล์รับแสงของเหล่าสัตว์ทะเลได้เช่นเดียวกัน และปัจจัยที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ความสว่างมากกว่าสเปกตรัมที่ใช้

หรือว่าคำตอบอาจจะอยู่ในวิชาคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์? เป็นไปได้ไหมว่าหลอดไฟสีเขียวนั้นเป็นหลอดไฟที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด? ซึ่งก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน เพราะว่าค่าไฟ หรือปริมาณพลังงานที่ใช้ไปในการปล่อยแสงไฟนั้น คิดเป็นส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าน้ำมัน ค่าเรือ และค่าแรงที่ต้องใช้ไป

สุดท้าย คำตอบเพียงคำตอบเดียวที่อาจจะอธิบายแสงสีเขียวได้ดีที่สุด อาจจะอยู่ในวิชาสังคมศาสตร์ เราใช้แสงสีเขียว เพียงเพราะว่ามันเป็นแสงที่ "ฮิต" หรือได้รับความนิยมมากที่สุด เพียงเท่านั้นเอง และหากเราไปพิจารณาดูอุตสาหกรรมในการตกหมึกทั่วโลก เราก็จะพบว่าแต่ละประเทศนั้นมีสีที่ได้รับความนิยมที่แตกต่างกันออกไป

ล่าสุดมีรายงานว่าแหล่งแสงที่มนุษย์สร้างอีกแหล่ง อาจจะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน กรณีนี้อาจเป็นไปได้เช่นกัน และอาจจะทำให้เกิดแสงสว่างส่องไปบนเมฆได้อย่างที่เห็น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง