สหรัฐฯ ตัด GSP ไทย 231 รายการ ไม่พอใจโควต้าส่งเนื้อหมูเข้าไทย

เศรษฐกิจ
31 ต.ค. 63
17:16
831
Logo Thai PBS
สหรัฐฯ ตัด GSP ไทย 231 รายการ ไม่พอใจโควต้าส่งเนื้อหมูเข้าไทย
สหรัฐฯ อ้างไทยไม่เปิดตลาดค้าสุกรอย่างเป็นธรรม ประกาศตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 231 รายการ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ปัดกระทบ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ชี้สินค้าไทยได้รับผลกระทบจริง 147 รายการ มูลค่า 49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 600 ล้านบาทเท่านั้น

วันนี้ (31 ต.ค.2563) นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการพิจารณาการตัดสิทธิ GSP ไทย - สหรัฐฯ โดยระบุว่า การทบทวนตัดสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรสินค้าส่งออกไทย (GSP) ของสหรัฐอเมริกาโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รายสินค้า และรายประเทศ ซึ่งการตัดสิทธิประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการตัดสิทธิรายประเทศ ซึ่งมีเกณฑ์พิจารณา 6 ข้อ

  1. ระดับการพัฒนาประเทศ
  2. การเปิดตลาดสินค้าและบริการ
  3. กาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
  4. การคุ้มครองสิทธิแรงงาน
  5. การกำหนดนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนและการลดข้อจำกัดทางการค้า
  6. การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย

จากปีที่ผ่านมา ไทยถูกตัดสิทธิเรื่องแรงงาน เนื่องจากสหรัฐฯ ระบุว่า ไทยไม่ได้ดูแลเรื่องแรงงานอย่างเพียงพอ แม้ไทยจะดำเนินการอย่างเต็มที่ คราวที่แล้ว ถูกตัดสิทธิไป 573 รายการ

เมื่อเช้านี้ที่สหรัฐฯ ประกาศออกมา เป็นการตัดสิทธิตามเกณฑ์การเปิดตลาดสินค้าและบริการ คือ สุกร โดยอ้างว่า ไทยไม่ได้เปิดตลาดค้าสุกรอย่างเป็นธรรมให้สหรัฐฯ ทำให้ติดสิทธิ GSP ไทย 231 รายการ

สำหรับผลกระทบทางการค้าต่อไทยนั้น ต้องชี้แจงว่า สหรัฐฯ ให้สิทธิ GSP จำนวน 3,500 รายการสินค้ากับทุกประเทศ แต่ไทยใช้สิทธิจริง ประมาณ 1,100 รายการ ดังนั้น เมื่อปีที่แล้วเราถูกเรื่องแรงงานไป ใน 573 รายการ ไทยส่งออกเพียง 315 รายการ ส่วนครั้งนี้สหรัฐฯ ตัดสิทธิ 231 รายการ แต่ไทยส่งออกอยู่ 147 รายการเท่านั้น

ตัวเลขที่แท้จริงในการได้รับผลกระทบต้องดูจาก 147 รายการ ซึ่งจะกระทบจริง 49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 600 ล้านบาท ที่อาจต้องกลับไปเสียภาษีเหมือนเดิม ไม่ใช่เสียหาย 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามที่เป็นข่าว ยืนยันยังส่งออกได้เหมือนเดิม 

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบใน 147 รายการ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ระบบเกียร์ กรอบแว่นตา เคมีภัณฑ์ ที่นอน-ฟูก หลอดและท่อที่ทำด้วยยาง และอะลูมิเนียม


นายกีรติ ระบุว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับผู้ประกอบการมาโดยตลอดว่า การให้ GSP ของสหรัฐฯ สามารถตัดสิทธิเมื่อใดก็ได้ เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ด้านราคา เมื่อมีการลดภาษีลงมาจะทำให้ราคาสินค้าไทยถูกลงในตลาดสหรัฐฯ แต่เมื่อกลับมาเก็บภาษีราคาก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการหันมาแข่งขันด้านมาตรฐานแทนเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานสถาบันการเงินสนับสนุนบริการด้านการเงินมาโดยตลอดทั้งสินเชื่อเพื่อการส่งออก โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินหมุนเวียน ประกันการส่งออก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงการหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อขยายตลาด ซึ่งหลังเกิดการระบาดของ COVID-19 ได้เน้นขยายตลาดแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงทางการตลาดด้วย

ย้ำตัดสิทธิ GSP 315 รายการ ไม่กระทบส่งออกไทย

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงข้อมูลสินค้า 315 รายการที่ถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่เดือน เม.ย.จนถึงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มียอดการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลงเฉลี่ย 10% แต่ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า 10% นี้เกิดจากการตัด GSP หรือ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19


นอกจากนี้ ยังพบรายการสินค้าที่ส่งออกได้มากขึ้น เช่น เครื่องสุขภัณฑ์ ผ้าผืน เช่น ธงชาติ เครื่องล้างจาน ผลไม้บางประเภท ทั้งลิ่นจี้ ลำไย กลุ่มหัวเทียน มีการส่งไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น บางกลุ่มเพิ่มเป็นหลัก 100% แสดงให้เห็นว่า การตัดสิทธิ GSP ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ ในรายการที่มีตัวเลขส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง มีการส่งออกมากขึ้นตลาดยุโรป จีน ฮ่องกง และกลุ่มเอเชีย เช่น แว่นตา ประตู พัดลม แผงสวิตช์ไฟฟ้าเครื่องจักสาน และน้ำผลไม้ ซึ่งสะท้อนว่า ผู้ประกอบการมีความสามารถในการหาตลาดทดแทนได้ และมีความสามารถในการพัฒนามาตรฐาน ดังนั้น จึงฝากเตือนประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนกมากเกินไป 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง