THE EXIT : ชาวแม่พริกค้านเหมืองแร่แมงกานีส ตอน 2

สิ่งแวดล้อม
12 พ.ย. 63
19:05
695
Logo Thai PBS
THE EXIT : ชาวแม่พริกค้านเหมืองแร่แมงกานีส ตอน 2
ชาวอำเภอแม่พริก จ.ลำปาง เคยปิดถนนเรียกร้องให้อุสาหกรรมและผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ยุติคำขอประทานบัตรเมืองแร่แมงกานีส พื้นที่ 199 ไร่ ชี้กระทบพื้นที่ป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ ใช้หาอยู่หากิน และยังเป็นป่าซึมซับน้ำที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ

ชาวบ้านห้วยขี้นก นำทีมข่าวไทยพีบีเอส เข้ามาสำรวจสภาพป่าในช่วงฤดูฝนในเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรเหมืองแร่แมงกานีส เลขที่ 2/2561 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 11 ต.แม่พริก อ.แม่พริก จ.ลำปาง 

 

ชาวบ้าน บอกว่า ป่าผืนนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมทั้งลำธารที่มีน้ำไหลเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งยางไม้ที่หาได้ในป่าแห่งนี้ ชาวบ้านจะเก็บและนำไปจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 30 บาท เพื่อนำไปบดให้ละเอียดใช้ปิดรอยรั่วเรือชาวบ้านและเรือประมง


นอกจากนี้ ยังมีพืชสมุนไพร หน่อไม้ และของป่าอย่างเห็ดเผาะ สร้างรายได้รวมกันนับล้านบาทให้กับชาวบ้านห้วยขี้นกและบ้านแพะดอกเข็ม รวมถึงคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาของป่าในแต่ละฤดู

ขณะที่กองหินสีดำที่อยู่ในเขตพื้นที่คำขอประทานบัตร ชาวบ้าน ระบุว่า เป็นแร่แมงกานีสที่หลงเหลือจากการทำเหมืองเมื่อ 30 ปีก่อน

 

สมบูน ตาคำเที่ยง ชาวบ้านตำบลแม่พริก อดีตคนงานเหมืองแร่แมงกานีส บอกว่า ก่อนหน้านี้เป็นเพียงการทำเหมืองขนาดเล็ก และชาวบ้านยังไม่มีความรู้เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เห็นเพียงว่าป่าบางส่วนถูกทำลายจากการระเบิดหิน หลังได้รับข้อมูลว่ามีการยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ใหม่ในพื้นที่เดิม พื้นที่กว่า 200 ไร่ จึงค่อนข้างกังวลว่าจะเกิดผลกระทบตามมา โดยเฉพาะพื้นที่ป่าแม่พริก

ถ้าเขามาทำจริง ๆ ชาวบ้านอยู่ไม่ได้หรอก ต้องใช้เครื่องจักรหนัก

 

น้ำจาก "ลำห้วยโป่ง" จะไหลลงสู่ห้วยขี้นก แหล่งรองรับน้ำซับซึมจากภูเขา ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ในลำห้วยมีน้ำเกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรรม รวมถึงใช้ผลิตน้ำประปาของทั้ง 2 หมู่บ้าน

ชาวบ้านที่ทำนาข้าวอินทรีย์ในพื้นที่รวมกันกว่า 2,000 ไร่ เป็นอีกกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ หากการทำเหมืองทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ

ปัญหาเรื่องน้ำมีแน่นอน เพราะน้ำจะไหลลงมาที่อ่าง จากนั้นไหลสู่ที่นา คุณภาพน้ำใช้ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ไม่ได้เลย

 

ข้อมูลแผนที่จากระบบภูมิสารสนเทศอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พบว่า พื้นที่ที่มีการยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่แมงกานีส อยู่ในพื้นที่ป่าโซน E หรือเขตพื้นป่าเพื่อเศรษฐกิจ จากแปลงคำขอพบว่า พื้นที่ทั้ง 199 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา เกือบครอบคลุมพื้นที่ ทั้งหมดของป่าโซน E และขอบเขตโดยรอบเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่พริก

 

ทีมข่าวสอบถามข้อมูลรายละเอียดโครงการ และการควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งได้รับคำตอบว่า การยื่นขอประทานบัตรยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ยื่นขอต้องชี้แจงในเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ยังไม่สามารถจัดเวทีดังกล่าวได้ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง THE EXIT : ชาวแม่พริกค้านทำเหมืองแร่แมงกานีส หวั่นกระทบชีวิต

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง