ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ มี 3 จังหวัดที่ มีผู้สมัครลงเลือกตั้งเพียง 1 คน ซึ่งแม่ไม่มีคู่แข่งแต่ก็มีเงื่อนในการการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ภายใต้กติกาของกกต.
จ.กระบี่ "โกหงวน" นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล อดีตนายก อบจ.กระบี่ 6 สมัย เป็นพี่เขยของ “สฤษฏ์พงศ์ เกี่ยวข้อง” ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย คอการเมืองท้องถิ่น มองว่า "โกหงวน" มีบทบาทสำคัญในการเจาะฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว กำลังลุ้นเก้าอี้สมัยที่ 7 แต่ก็ยังต้องลงพื้นที่หาเสียง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นฐานเสียง และอาจสับสนว่าไม่มีคู่แข่ง ก็ไม่จำเป็นต้องไปลงคะแนนด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยว ยุทธศาสตร์สำคัญคือการพัฒนาสู่เมืองท่องเที่ยวคุณภาพ ตามมาด้วยการเกษตร พลังงานทางเลือก และพัฒนาคุณภาพชีวิต
จ.เพชรบุรี นายชัยยะ อังกินันทน์ อดีตนายก อบจ.เพชรบุรี โดยตระกูล "อังกินันท์" นับเป็นตระกูลการเมืองเก่าแก่ของ จ.เพชรบุรี ไล่ตั้งแต่รุ่นปู่ อย่างผาด อังกินันท์ ก่อนส่งต่อถึงลูกชาย คือ ปิยะ (แป๋ง) และน้องชาย ยุทธ (เปี๊ยก) อดีต ส.ส.หลายสมัย จนมาถึง ปิยะ หรือ นายกคนปัจจุบันเป็นลูกชายของปิยะผู้ล่วงลับ ได้แรงสนับสนุนจากพรรครัฐบาล เนื่องจากภรรยาของ “นายกปราย” ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (สุชาติ ชมกลิ่น) ผลงานเดิม ดำเนินการบนยุทธศาสตร์ 7 ด้าน อย่างงบประมาณปี 2562 กว่า 550 ล้านบาท ใช้ไปกับงานก่อสร้างและปรับปรุงสาธารณูปโภค 244 ล้านบาท และอุดหนุนงานด้านการศึกษา สวัสดิภาพ วัฒนธรรมต่าง ๆ
จ.อุทัยธานี นายเผด็จ นุ้ยปรี อดีตนายก อบจ.อุทัยธานี 3 สมัย พี่ชาย "ศิลป์ชัย เชษฐ์ศิลป์" (นุ้ยปรี) อดีต ส.ส. 4 สมัย ได้รับการสนับสนุนจากบ้านใหญ่ตระกูล “ไทยเศรษฐ์” ผลงานที่ถูกพูดถึงคือการร่วมพัฒนาพื้นที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรไม้ดอกเมืองหนาว สนับสนุนการลดการทำลายป่า และการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร
3 จังหวัดที่มีผู้สมัคร นายก อบจ.คนเดียว และอีก 167 เขตเลือกตั้งใน 32 จังหวัดที่มีผู้สมัครสมาชิก อบจ.คนเดียว ต้องได้คะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทิ์เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น จ.กระบี่ จำนวนผู้มีสิทธิ์ 337,960 คน ต้องการ 33,796 คะแนน จ.เพชรบุรี จำนวนผู้มีสิทธิ์ 407,984 คน ต้องการ 40,799 คะแนน ,จ.อุทัยธานี จำนวนผู้มีสิทธิ์ 255,254 คน ต้องการ 25,526 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนขั้นต่ำที่ต้องได้ แต่ไม่เท่านั้นเพราะผู้สมัคร ยังต้องได้เสียงมากกว่าคะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใด หรือ โนโหวต หากไม่เข้าเงื่อนไข ถือว่าสอบตก และ กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งผู้สมัครคนเดิมนี้ จะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครซ้ำอีก