คลายข้อสงสัย : อะไรคือ "ระบาดระลอกใหม่"

สังคม
21 ธ.ค. 63
16:24
4,190
Logo Thai PBS
คลายข้อสงสัย : อะไรคือ "ระบาดระลอกใหม่"
หลายคนสงสัยอะไรคือการระบาดระลอกใหม่ ทำไมไม่เรียกว่า ระบาดระลอก 2 ต่างกันอย่างไร เพราะอะไรจึงเรียกว่าการระบาดระลอกใหม่

“จากการหารือกับคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การระบาดครั้งนี้ ไม่ใช่การระบาดระลอกสอง แต่เป็นการระบาดระลอกใหม่”

นี่คือคำพูดของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ในการแถลงข่าว วันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา

คำตอบนี้สร้างความงุนงงให้กับประชาชนจำนวนมาก และมองว่าเป็นคำตอบเลี่ยงบาลี เพื่อลดความวิตกกังวลของสังคม

ไทยพีบีเอสออนไลน์ค้นข้อมูลเพื่อหาคำตอบ อะไรคือ “การระบาดระลอกใหม่”

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ด้านต่างประเทศ ได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายในเวที “Visual Policy Forum : เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของ COVID-19” ซึ่งจัดโดยสำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา

 

โดย นพ.สุวิทย์ สรุปสาระสำคัญ ไว้ดังนี้

ข้อสรุปที่ 1 ฟันธงได้เลยว่า “การระบาดระลอกใหม่” จะมีแน่ และน่าจะภายในปีนี้ (2563) หรืออาจจะภายในเดือนกันยายน คืออีกสองเดือนข้างหน้า ส่วนจะรุนแรงแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัย 3 ประการ

ประเทศทั่วโลกขณะนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ระบาดแล้วและยังระบาดอยู่ ที่เด่นๆ ก็ สหรัฐอเมริกา บราซิล ใกล้ประเทศไทย เช่น อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ

กลุ่มที่ 2 ระบาดแล้วคุมได้แล้ว และยังไม่ระบาดใหม่ เช่น จีน ไต้หวัน ไทย รวมทั้งอิตาลี และยุโรป หลายประเทศที่เคยระบาดหนักมาแล้ว

กลุ่มที่ 3 ระบาดแล้วคุมได้แล้ว และมีการระบาดระลอกใหม่แล้ว ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น อิสราเอล และ โครเอเชีย แม้จะยังไม่ชัด แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงเท่าหรือมากกว่าเก่า

ในการเสวนาครั้งนั้น เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา วงเสวนาระบุว่า

ประเทศทั่วโลกเริ่มจากกลุ่มหนึ่ง ไปสอง และไปสาม ไทยเราอยู่กลุ่มที่สอง จึงมีโอกาสสูงที่จะไปสู่กลุ่มที่สามได้

ซึ่งหากวัดจากคำแถลงของ นพ.ทวีศิลป์ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็นับได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่กลุ่มที่สามแล้ว

นพ.สุวิทย์ยังสรุปต่อว่า

เราไม่สามารถปิดเมืองปิดประเทศไปตลอด เพราะผลกระทบเศรษฐกิจ รุนแรงมาก และแม้จะปิดประเทศทางอากาศได้ ก็ยังมีความเสี่ยง จากชายแดนทางบก โดยเฉพาะสหภาพเมียนมา ที่ติดกับบังคลาเทศ และอินเดีย และทางน้ำจากชาวประมงที่ไปจับปลาในน่านน้ำ มหาสมุทรอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ส่วนการเปิดเมืองที่มีความเสี่ยงที่สุดคือ สนามมวย สนามกีฬา ผับ/บาร์ การรวมกลุ่มผู้คนในด้านสังคมต่างๆ

 

ความรุนแรงจะขึ้นกับว่า

1.เราจะเปิดเมืองและเปิดประเทศอย่างไร เร็วและระมัดระวังแค่ไหน และมีเงื่อนไขอย่างไร และเข้มงวดกับเงื่อนไขแค่ไหน

2.ขีดความสามารถในการสอบสวนหาคนติดเชื้อและผู้สัมผัสโรค เพื่อนำไปรักษา แยกโรค และกักตัว จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการอาจมีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดด้วย

3.ประชาชนไทยยังมั่นคงในความร่วมมือกันที่จะป้องกัน การระบาดแบบที่เราทำได้ดีมาตลอด 4-5 เดือน ได้มากน้อยแค่ไหน

สถานการณ์ที่น่าจะดีที่สุด เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่คือ แบบประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาคือ มีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศทุกวัน แต่ไม่เกินความสามารถของระบบสุขภาพของประเทศที่จะรองรับได้

ข้อสรุปที่ 2 หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ ระบบบริการสุขภาพ จะสามารถรองรับได้หากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 250 หรือสูงสุดไม่เกิน 500 คนต่อวัน

เรามีเตียงรับผู้ป่วยโควิดอาการหนัก พร้อมแพทย์พยาบาลที่ได้ฝึกมาอย่างดี และมีประสบการณ์จากการระบาดรอบแรกแล้ว พร้อมเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องใช้ในการรักษาและป้องกันตนเองครบ ราว 500 เตียง และหากจำเป็นอาจเพิ่มได้ถึง 1,000 เตียง

ถ้าคิดว่าผู้ติดเชื้อ 100 คนจะมีอาการหนัก 5 คน และแต่ละคนนอน 40 วัน เราจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ วันละ 250-500 คน

ดังนั้นหากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อวันละไม่เกิน 500 คน ระบบบริการสุขภาพของเรารองรับได้

ในการระบาดรอบที่แล้ว มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละราว 100 คน แปลว่า เราสามารถรองรับการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมถึง 2.5-5 เท่าได้ และนอกจากนี้ เรายังมีทักษะในการดูแลรักษาดีขึ้น สังเกตว่า ระยะหลังๆ ไม่ค่อยมีคนเสียชีวิต ตัวเลขติดอยู่ที่ 58 คนมานานแล้ว แม้จะยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ทุกวัน

แต่เราคงไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น และคณะแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาที่ต้องคอยสอบสวน หาผู้สัมผัสโรคและนำไปกักตัวไว้ จะต้องทำงานกันหนักอีกครั้งหนึ่ง

ข้อสรุปที่ 3 จะมีวัคซีนที่ได้ผลในการป้องกันและรักษาโควิดเมื่อใด ไม่มีใครบอกได้ คาดว่าอย่างเร็วก็ปลายปีนี้ หรือภายในกลางปีหน้า อาจมีวัคซีนหรืออาจไม่มีในระยะเวลาอันใกล้ก็ได้

ขณะนี้วัคซีนยังอยู่ระหว่างการวิจัย ในระยะต่างๆ กัน ไม่มีใครทราบว่าเมื่อไรจะมีวัคซีนที่ได้ผลอย่างน้อย 50 % ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอาจจะเริ่มมีวัคซีนบางตัวออกมาภายในปีนี้ และมีหลายตัวจะออกมาในปีหน้า แต่ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าจะมีเมื่อไร

ที่สำคัญคือ เมื่อมีวัคซีนที่ได้ผลแล้ว ประเทศไทยจะได้รับและคนไทยจะได้ใช้เมื่อไร องค์กรระดับโลกร่วมกันตั้งเป้าหมายว่า ภายในปีหน้า (2564) จะจัดหาวัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้ 20 % ของประชากร คือราว 2,000 ล้านโดส

ขณะที่ เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2563 ระบุในบทความเรื่อง โควิดสายพันธุ์ G จุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกใหม่?

ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า หลายคนกังวลว่า วัคซีนเพียงแค่ตัวเดียวจะสามารถจัดการกับ COVID-19 ได้ทุกสายพันธุ์หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ มักมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งความคิดนี้มีความคลาดเคลื่อน

 

เนื่องจากวิวัฒนาการของเชื้อไวรัส COVID-19 การแยกสายพันธุ์ของไวรัสเกิดจากวิวัฒนาการของเชื้อ

ไวรัสเริ่มต้นจากจีนจะมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) สายพันธุ์ L แพร่กระจายมีลูกหลานได้มากกว่าสายพันธุ์ S

โดยเฉพาะเมื่อออกนอกจีนไปถึงยุโรป สายพันธุ์ L แพร่กระจายได้ดี ออกลูกหลาน เป็นสายพันธุ์ G (Glycine) และสายพันธุ์ V (Valine)

สายพันธุ์ G แพร่กระจายได้ง่ายตามหลักวิวัฒนาการ จึงกระจายไปทั่วโลกอย่างกว้างขวาง มีลูกหลานของสายพันธุ์ G มาเป็นสายพันธุ์ GR (Arginine) และ GH (Histidine)
นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบว่า สายพันธุ์ G ระบาดได้ง่าย แพร่กระจายได้เร็ว แต่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรคและระบบภูมิต้านทาน ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีน

ขณะนี้ (ส.ค.2563) อัตราการแพร่ระบาดสายพันธุ์ G เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาเป็นเกือบ 90 % ดังนั้นสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ทั่วโลก จึงเป็นสายพันธุ์ G

ในประเทศไทยระบาดระลอกแรก แม้จะพบได้ทุกสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์หลักที่ระบาด เป็นสายพันธุ์ S

โดยสายพันธุ์นี้ได้หายไปแล้ว เนื่องจากมาตรการป้องกันโรคของประเทศไทย เป็นไปในทิศทางที่ดี ไม่ให้แพร่กระจาย รวมถึงไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยนานกว่า 100 วัน

ส่วนการตรวจไวรัสในผู้ที่อยู่ในที่กักกันของรัฐ หรือที่เรียกว่า State quarantine โดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสของจุฬาฯ พบว่า เป็นสายพันธุ์ G เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา

 

สายพันธุ์นี้ไม่เกี่ยวข้องที่จะทำให้โรครุนแรงขึ้น ไม่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน เพียงแต่มีการกระจายได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในขณะนี้โควิด-19 จะมีกี่สายพันธุ์ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ระยะฟักตัว ซึ่งจะเป็น 2 ถึง 7 วัน อาจพบได้ถึง 14 วัน และอาจจะเป็นไปได้น้อยมาก ถึง 21 วัน

ดังนั้นในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรค 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกันการกระจายโรค และให้ป้องกันตัวเองจากโรคอย่างเข้มงวด ทั้งสวมหน้ากาก ล้างมือ

ถึงวันนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาอีกกว่าพันคน ตรวจพบเฉพาะที่ จ.สมุทรสาคร 821 คน และยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีกจำนวนมาก

ถ้าย้อนกลับไปดูที่ นพ.สุวิทย์สรุปไว้จากวงเสวนาข้างต้นจะพบว่า ประเทศไทย น่าจะเดินไปสู่กลุ่มที่ 3 แล้ว คือ ระบาดแล้วควบคุมได้ และเริ่มระบาดระบอกใหม่แล้ว

หรือหากมองอีกมุมหนึ่งไม่ว่า “จะเป็นการระบาดระลอก 2 หรือไม่” อาจไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไปแล้ว

สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ ทุกคนควรเฝ้าระวังสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อหยุดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง