วันนี้ (25 ธ.ค.2563) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,223 ตัวอย่าง ระหว่าง 14-23 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า พฤติกรรมการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้มูลค่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ 91,467 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 33.6 และเป็นปีแรกที่มียอดการใช้จ่ายต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
คนไม่อยากออกจากบ้าน สังสรรค์น้อยลง ทำบุญน้อยลง ลดการใช้จ่ายโดยรวม เพราะฉะนั้นการปรับตัวลดลง 33.6% เทียบกับปีที่แล้ว และเหลือ 91,500 ล้านบาทโดยประมาณ เกิดจากคนไม่กล้าเดินทางหรือไม่อยากออกไปท่องเที่ยว


ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า สาเหตุมาจากประชาชนกังวลเรื่องเศรษฐกิจและการระบาดของ COVID-19 โดยร้อยละ 57.5 ระบุว่า พักผ่อนอยู่กับบ้านมากขึ้น และ ร้อยละ 71 ไม่มีแผนเดินทางในช่วงปีใหม่ ส่วนการใช้จ่าย การทำบุญ ลดลงโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งค่าใช้จ่ายปีนี้อยู่ที่ 9,876 บาทต่อคน ลดจากปีก่อนที่ 15,615 บาทต่อคน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ แต่แบ่งโซน และให้แต่ละจังหวัดพิจารณามาตรการที่เหมาะสม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสนับสนุนแนวทางดังกล่าว เพราะจะลดผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งความสูญเสียอาจอาจมากถึง 7,000 ล้านบาทต่อวัน หรือเสียหายประมาณเดือนละ 2 แสนล้านบาท

เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศมีความเปราะบาง ยังไม่ฟื้น หากมีการล็อกดาวน์อีกทำให้คนตกงานอีกมาก และจะทำให้เศรษฐกิจในปีหน้าฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ โดยเห็นว่าควรล็อกดาวน์ในจุดที่มีความเสี่ยง เช่น จังหวัดสมุทรสาคร และในบางพื้นที่ของจังหวัดอื่น ซึ่งหากรวมผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยรวมประมาณ 3-6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว เช่น การขยายโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โดยสิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการในปี 2564 คือการป้องกันการระบาดของ COVID-19 การเมืองมีเสถียรภาพและดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม
