"หมอยง" ชี้ศึกโควิดใหญ่กว่ารอบแรก ย้ำความจำเป็น รพ.สนาม

สังคม
2 ม.ค. 64
11:36
479
Logo Thai PBS
"หมอยง" ชี้ศึกโควิดใหญ่กว่ารอบแรก ย้ำความจำเป็น รพ.สนาม
“ศ.นพ.ยง” ชี้ศึกโควิดครั้งนี้ใหญ่กว่ารอบแรก ขอประชาชนอย่าต่อต้านสร้างโรงพยาบาลสนาม ย้ำจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยไม่รุนแรง

วันนี้ (2 ม.ค.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 ว่า ตั้งแต่ไปเห็นที่สมุทรสาคร การศึกครั้งนี้ใหญ่กว่ารอบแรกมากมายนัก แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะมีอาการน้อยและไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ร้อยละ 20 เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนักในจำนวนนี้ร้อยละ 3-5 อยู่ในขั้นวิกฤตต้องรักษาในห้อง ICU โรงพยาบาลจึงมีความจำเป็นสำหรับผู้มีอาการมาก และอาการวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาอย่างดี

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ถ้ามีผู้ป่วยจำนวนมากหลายร้อยคนต่อวันในอนาคตถ้ามากกว่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโรงพยาบาลสนามเพื่อไว้ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก จึงอยากจะขอร้องประชาชนทั่วไปให้เห็นความจำเป็นในการเตรียมการโรงพยาบาลสนาม อย่าให้เหมือน จ.สมุทรสาคร ที่มีประชาชนต่อต้านในการสร้างโรงพยาบาลสนามหรือใช้สถานที่ ได้มีมาตรการอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ในการป้องกันการระบาดของโรค 

องค์ความรู้ต่าง ๆ ในปัจจุบัน เพียงพออยู่และในการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรค ขอให้ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลสนาม สบายใจได้ทุกจังหวัด แม้กระทั่งกรุงเทพฯ ก็จะต้องมีการเตรียมตัว ในกรณีที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เพราะทุกคนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลหมด ทุกคนจะต้องช่วยกันให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้

ภาพ : Yong Poovorawan

ภาพ : Yong Poovorawan

ภาพ : Yong Poovorawan

 

ใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยต้องให้เร็ว

นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ยังระบุถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ด้วยการใช้พลาสมาจากผู้ที่หายจากโรคแล้ว มารักษาผู้ป่วย ยังเชื่อว่าการใช้พลาสมามารักษาต้องให้เร็ว ก่อนที่ผู้ป่วยจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้เอง ดังนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยเริ่มมีปอดบวมหรือมีภาวะออกซิเจนในเลือดเริ่มต่ำก็สามารถให้ได้เลย เพราะถ้าอาการรุนแรงแล้วแบบในรายงานศึกษาเปรียบเทียบหรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานสร้างขึ้นเองได้แล้วจะไม่เกิดประโยชน์

ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติได้เก็บพลาสมาจากผู้ที่หายจากโรคแล้ว มีระดับภูมิต้านทานสูงไว้เป็นจำนวนมากหลายร้อยถุง พร้อมที่จะใช้กับผู้ป่วยจำนวนมากอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการให้พลาสมาก็คงไม่ต่างจากการให้พลาสมาในโรคอื่น ๆ

ทำนองเดียวกันทางตะวันตกมีแอนติบอดี้ชนิดที่เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี ไว้ใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยเพื่อไม่ให้มีอาการมากและการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นพลาสม่าหรือแอนติบอดี สามารถลดปริมาณไวรัสลงได้ ถ้าให้ในระยะแรก ก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันมาอย่างเต็มที่แล้ว

ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ยังได้นำพลาสมาของผู้ที่หายป่วย มาทำเป็นเซรุ่มไว้จำนวนหนึ่ง ขณะนี้กำลังรอการศึกษาในอาสาสมัคร เซรุ่มที่สร้างขึ้นมาได้ จะเหมือนเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า และมีความเป็นไปได้ที่จะนำเซรุ่มนี้มาให้กับกลุ่มเสี่ยง ที่ไปสัมผัสโรคมา และป้องกันไม่ให้ติดโรค ข้อมูลต่างๆคงต้องรอการศึกษาในขั้นต่อไป
ถ้ามีประโยชน์ ภูมิต้านทานที่ให้ไปนี้ จะเป็นภูมิต้านทานชนิดเดียวกับผู้ที่ได้รับวัคซีน หรือที่หายจากโรคแล้ว

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง