จ่อเอาผิด "บุคคล-โรงแรมดัง" โยงเคสดีเจปกปิดข้อมูล

สังคม
28 ม.ค. 64
10:55
3,131
Logo Thai PBS
จ่อเอาผิด "บุคคล-โรงแรมดัง" โยงเคสดีเจปกปิดข้อมูล
กรมควบคุมโรค ประสานกทม.ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกรณีผู้ป่วย COVID-19 ปกปิดข้อมูล งัดความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ความผิดตามกฎหมายอาญา เล็งตรวจโรงแรมดัง เปิดสถานที่จัดเลี้ยงฝ่าฝืนพ.รก.ฉุกเฉินหรือไม่

จากกรณีที่มีผู้ป่วย COVID-19 ในพื้นที่ กทม.ที่เชื่อมโยงกับงานฉลองวันเกิดของดีเจดัง มีบางรายปกปิดข้อมูลในไทม์ไลน์ วันนี้ (28 ม.ค.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เรื่องขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากพบว่ามีบุคคลอื่นซึ่งมีประวัติใกล้ชิดกับดีเจดังติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นอีก

โดยจากข้อมูลการเดินทางของบุคคลดังกล่าว และบุคคลที่เกี่ยวข้องมีการให้ข้อมูลบางประการที่ไม่สอดคล้องกัน รวมถึงมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลบางส่วนต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ การกระทำดังกล่าวอาจทำให้โรคแพร่ระบาดไปในวงกว้าง และทำให้การป้องกันควบคุมล่าช้า

ความผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อ-ฝ่าฝืนจัดเลี้ยง 

นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีนี้กรมควบคุมโรคได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.กรณีที่บุคคลให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน หรือมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูล ซึ่งควรต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท รวมถึงอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านข่าวเพิ่ม กทม.อัพเดตไทม์ไลน์คลัสเตอร์ดีเจมะตูม "นักร้อง-พีอาร์-จนท.รัฐ"

นอกจากนี้ กรณีสถานที่ซึ่งใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด รวมถึงกรณีบุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด ซึ่งเป็นมาตรการตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินพ.ศ.2548 เนื่องจาก กทม.ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่ 1/2564 ลงวันที่ 3 ม.ค.2564

พื้นที่ควบคุมสูงสุดจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวด เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบา COVID-19 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในสถานการณ์ระบาดของ COVD-19 ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนอย่าปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลล่าช้า เพราะจะส่งผลให้การควบคุมโรคทำได้ช้า ไม่ทันการณ์ และเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นเพิ่มได้อีก 

ก่อนหน้านี้โซเชียลได้ตั้งคำถามกรณีกทม.เปิดไทม์ไลน์ของ 3 คนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นักร้อง นักแสดงและมีข้อความว่าผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้แล้ว! "ข้าวโอ๊ต" วง AXIS บอยแบนด์ 23 ปี ติดโควิด โยงดีเจมะตูม

เอาผิด! โซเชียลขุด "เจ้าหน้าที่รัฐ" ปิดข้อมูลโยงคลัสเตอร์ดีเจมะตูม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง