วันนี้ (3 ก.พ.2564) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน บอกว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ประสบปัญหา น้ำประปามีรสชาติกร่อย เนื่องจากสภาวะภัยแล้ง และน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้มีน้ำเค็มผ่านเข้าระบบน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา แต่ยังใช้เพื่อการอุปโภคได้ตามปกติ
กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง คือเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต ตลอดจนผู้ป่วยโรคทางสมอง และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก เพราะอาจได้รับปริมาณโซเดียม หรือความเค็มเกินปริมาณที่สามารถบริโภค ซึ่งอาจจะส่งผลกับภาวะโรคที่เป็นอยู่ได้
นอกจากนี้ ควรระมัดระวังในการนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองสาขาไปใช้กับพืชด้วย เนื่องจากค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาสูงเกินมาตรฐาน 1.2 กรัมต่อลิตร
ขณะที่ กอนช.ติดตามสถานการณ์ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากในเดือน ก.พ. น้ำทะเลจะหนุนสูงกว่าปกติและส่งผลกระทบต่อรสชาติน้ำประปาในบางพื้นที่ บางช่วงเวลา การประปานครหลวง มีมาตรการรองรับสถานการณ์ดังนี้
สูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ด้วยความรัดกุม โดยสูบน้ำที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปาให้น้อยที่สุด ซึ่งความสามารถในการหลบเลี่ยงทำได้สูงสุดเพียง 4 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้น้ำประปา
เร่งแก้ปัญหาลดความเค็ม
ด้านนายรักษ์ศักดิ์ สุริยหาร รองผู้ว่าการ (ผลิตและส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 มีปริมาณน้ำจากเขื่อนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อรสชาติน้ำประปาในบางพื้นที่ บางช่วงเวลา โดยเฉพาะเมื่อน้ำทะเลหนุนสูง และจากการติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่า ในเดือน ก.พ.นี้ น้ำทะเลจะหนุนสูงกว่าปกติและส่งผลให้น้ำประปาบางช่วงเวลาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไป แต่น้ำประปายังคงสะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กปน. ได้ตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำ” เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และมีมาตรการบริหารจัดการการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ด้วยความรัดกุม โดยสูบน้ำที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปาให้น้อยที่สุด ซึ่งความสามารถในการหลบเลี่ยงทำได้สูงสุดเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อให้ทุกพื้นที่ให้บริการของ กปน. ทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ มีน้ำประปาใช้อย่างไม่ขาดแคลน