จับสัญญาณ "พล.อ.ประยุทธ์" กับ "ผู้นำเหล่าทัพ"

การเมือง
27 มี.ค. 64
14:15
284
Logo Thai PBS
จับสัญญาณ "พล.อ.ประยุทธ์" กับ "ผู้นำเหล่าทัพ"
กระทรวงกลาโหมเตรียมจัดกิจกรรมครบรอบ 134 ปี 8 เม.ย.นี้ ขณะที่ "พล.อ.ประยุทธ์" กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 2 ในฐานะ รมว.กลาโหม โดยยังย้ำถึงความรักผูกพันกับผู้นำเหล่าทัพในปัจจุบัน แม้จะมีระยะห่างของรุ่นเตรียมทหารถึง 10 ปี

จุดเริ่มต้นกิจการทหารไทยยุคใหม่ เกิดขึ้นเมื่อ 134 ปีที่แล้ว นับจากการก่อตั้งกรมยุทธนาธิการ 8 เมษายน 2430 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านยุคสมัย และรอยต่อช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนมาเป็นกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน

และยังคงความสำคัญเรื่อยมา โดยเฉพาะตำแหน่ง "รมว.กลาโหม" ที่มีบทบาทยึดโยงระหว่างการเมืองและทหาร

 

ทำให้หลายรัฐบาลเลือกใช้สูตรนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.กลาโหม เริ่มตั้งแต่จอมพล ป.พิบูลสงครามเรื่อยมาในอีกหลายรัฐบาล เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มาจนถึงนายชวน หลีกภัย พลเรือนคนแรกที่ดูแลกระทรวงกลาโหม

แต่ในยุครัฐบาลทักษิณกลับเลือกซื้อใจกองทัพด้วยการเปิดทางให้ทหารเกษียณเข้ามาเป็น รมว.กลาโหม ก่อนจะถูกรัฐประหารในปี 2549

 

หลังจากนั้นรัฐบาลอดีตพรรคพลังประชาชนและเพื่อไทย หันมาใช้สูตรควบเก้าอี้ ทั้งนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนมาถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สร้างประวัติศาสตร์ เป็นผู้หญิงคนแรกที่นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม นานเกือบ 1 ปี และเกิดเหตุรัฐประหารในปีต่อมา โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปัจจุบันนั่งควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม มาเกือบ 2 ปีแล้ว หลังจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม อ้างถึงปัญหาสุขภาพ และเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

 

อีก 4 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าสู่ปีที่ 2 ในการทำหน้าที่ รมว.กลาโหม นับตั้งแต่เข้าทำงานวันแรก 30 ก.ค.2562 แม้ที่ผ่านมาจะเน้นความสำคัญในหน้าที่นายกรัฐมนตรีเป็นหลัก และมีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ช่วยขับเคลื่อนบริหารงานในกระทรวง ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม

 

แต่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ใช้ช่องทางการประชุมสภากลาโหม สื่อสารและสั่งการกองทัพโดยตรง พร้อมย้ำถึงสายสัมพันธ์แนบแน่น กับผู้บัญชาการเหล่าทัพ แม้จะถูกตั้งคำถามอยู่เสมอถึงระยะห่างของรุ่นเตรียมทหารและนายร้อย จปร.มากถึง 10 ปี

เขารักผมทุกคน ระบบทหารสืบทอดระเบียบวินัย บางคนเป็นรุ่นพ่อรุ่นลูก แต่ข้อสำคัญคือผู้บังคับบัญชาต้องไม่เอาเปรียบผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องไม่ทุจริต และไม่ใช้แต่อำนาจ

คำยืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ผู้บังคับบัญชาต้องไม่ใช้แต่อำนาจ ยังสะท้อนท่าที และจุดยืนในเก้าอี้ รมว.กลาโหม ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่เข้าไปแทรกแซงกองทัพ

โดยเฉพาะการปรับย้ายนายทหารประจำปี ที่ไม่เคยขอให้กองทัพปรับแก้รายชื่อจากที่เสนอขึ้นมา แต่จะย้ำให้กองทัพสนับสนุนรัฐบาลแก้ปัญหาของชาติ โดยใช้ศักยภาพทางทหารที่มีอยู่

 

เช่น สนับสนุนศูนย์โควิด-19 แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม หนี้นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ รวมถึงชูนโยบายสำคัญตั้งแต่มานั่งตำแหน่ง รมว.กลาโหม ผลักดันงานวิจัยพัฒนาทางทหารและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในเชิงพาณิชย์

ด้วยเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ คาดหวังให้เกิดขึ้นได้จริงและเป็นรูปธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง