แล้ง-ร้อน-โรคระบาดกระทบเกษตรกรเลี้ยงหมู

เศรษฐกิจ
29 มี.ค. 64
13:08
704
Logo Thai PBS
แล้ง-ร้อน-โรคระบาดกระทบเกษตรกรเลี้ยงหมู
ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ไม่ได้ส่งผลเเค่เกษตรกรขาดน้ำทำนาเท่านั้น กระทบไปถึงการเลี้ยงหมูด้วย ผู้เลี้ยงภาคอีสานบอกว่าต้นทุนเเพงขึ้น เพราะต้องซื้อน้ำมาเลี้ยง

ไม่ใช่เเค่น้ำไม่พอ อากาศร้อน โรคระบาด กำลังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูแพงขึ้น มีตัวอย่างเกษตรกรในราชบุรี หันไปเลี้ยงหมูหลุมลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน

นายสุพจน์ สิงห์โตศรี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูหลุมอินทรีย์ ต.ดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายสุกรสูงขึ้นในช่วงนี้ เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อน สุกรเติบโตช้า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีการขยับราคา

และความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในต่างประเทศที่มีปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever (AFS) ทำให้ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น

เเละจากสภาพอากาศที่ร้อนในช่วงนี้ ทำให้เกษตรกรหลายคน ปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงหมูเเบบคอกพื้นปูน มาเป็นหมูหลุมที่อยู่ในพื้นที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี มีการบริหารจัดการพื้นที่ของสุกรอย่างเหมาะสม ทำให้หมูปรับได้ทุกสภาพอากาศ

ขณะนี้การเลี้ยงหมูหลุมกำลังเป็นที่เเพร่หลาย เลี้ยงเเละชำเเหละเเพคขายด้วย โดยเกษตรกรรายย่อยได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูหลุมอินทรีย์ ต.ดอนแร่ มีสมาชิกรวมกว่า 20 ราย มีหมูหลุมในระบบมากกว่า 2,000 ตัว และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนผู้เลี้ยงที่ขยับขนาดใหญ่ นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกำลังประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการเลี้งหมู โดยเกษตรกรหลายพื้นที่ต้องซื้อน้ำจากแหล่งอื่นมาให้หมูกิน ใช้ทำความสะอาด และหล่อเลี้ยงระบบทำความเย็นในโรงเรือน ส่งผลทำให้ต้นทุนสูงการใช้น้ำสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว โดยเเต่ละวันผู้เลี้ยงหมูบางรายต้องจ่ายค่าน้ำหลักพันบาท

สำหรับการเลี้ยงหมูโดยเฉลี่ยพ่อแม่พันธุ์สุกรใช้น้ำวันละ 130 ลิตรต่อตัว หมูขุนใช้น้ำวันละ 40 ลิตรต่อตัว ทำให้ปริมาณน้ำที่เกษตรกรกักเก็บสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเริ่มไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ฤดูร้อนยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิด โรคกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ หรือ โรค PRRS ที่ทำให้หมุอนุบาลและหมูขุนมีอัตราเสียหายเพิ่ม

ขณะเดียวกัน เกษตรกรทั่วประเทศยังคงเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรคทั้ง ASF และ PRRS เน้นการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ต้นทุนการป้องกันโรคเพิ่มกว่า 200-300 บาทต่อตัว

และคาดว่าต้นทุนการเลี้ยงในขณะนี้สูงกว่า ประมาณการที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่คาดว่าอยู่ที่ 77.49 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเฉลี่ยสุกรมีชีวิตตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอยู่ที่ 79-80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรได้กำไรลดลง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง