เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2564 สมาคมเภสัชกรอุตสาหการ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง วัคซีนหลายโดส โดยระบุว่า มีความกังวลในความเข้าใจคลาดเคลื่อนของการบริหารยาของวัคซีนชนิดหลายโดส จึงขอชี้แจงหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ดังนี้
1.การผลิตยาปราศจากเชื้อตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีและตามข้อกำหนดของเภสัชตำรับ มีข้อกำหนดให้การบรรจุมีปริมาตรส่วนเกิน (excess volume) เพิ่มจากปริมาตรที่กำหนดบนฉลากยา เพื่อทดแทนการสูญเสียจากการดูดยาในแต่ละโดส โดยเภสัชตำรับได้กำหนดปริมาตรส่วนเกินขึ้นกับลักษณะทางกายภาพของยาว่ามีลักษณะใสหรือมีความหนืด
การพิจารณาการบรรจุปริมาตรส่วนเกิน เป็นข้อมูลจากการวิจัยพัฒนาของผู้ผลิต และหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการบรรจุ รวมถึงการใช้จุกยางที่เหมาะสม ต่อการรองรับการแทงเข็มฉีดยาซ้ำหลายครั้ง โดยไม่มีการปนเปื้อนเศษจุกยางหลุดร่วงลงในน้ำยา (coring) ผู้ผลิตจึงต้องมีเอกสารกำกับยาในการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้ผู้ใช้ปฏิบัติตาม
2.กรณีของวัคซีน COVID-19 ของแอสตราเซเนกา ที่ใช้ในประเทศไทยซึ่งเป็นชนิดขวดละ 10 โดส การดูดวัคซีนจากขวดให้ใช้กระบอกฉีดและเข็มฉีดยาสำหรับการฉีดแต่ละคน ในการดูดวัคซีนแต่ละครั้งให้ได้ปริมาตรที่ฉีด 0.5 มล. ต่อโดส ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
หลังจากฉีดครบจำนวนโดสที่ระบุในฉลากและเอกสารกำกับยาอาจมีวัคซีนบางส่วนเหลือในขวดซึ่งเป็นปรกติ หากใช้กระบอกฉีดและเข็มฉีดยาแบบพิเศษอาจมีวัคซีนเหลือพอสำหรับการฉีดอีก 1 โดส แต่ต้องมั่นใจว่าปริมาตรวัคซีนที่เหลือต้องสามารถฉีดให้ครบ 1 โดสได้จริง หากไม่พอต้องทิ้งวัคซีนที่เหลือในขวดไปและห้ามนำไปรวมกับวัคซีนที่เหลือในขวดอื่น เพราะอาจเกิดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน
3.เนื่องจากวัคซีนเป็นยาปราศจากเชื้อที่ไม่ได้เติมสารกันเสีย จึงต้องระวังการปนเปื้อนในการบริหารยา โดยใช้เทคนิคปราศจากเชื้อ (aseptic technique) สำหรับการดูดยาแต่ละโดส รวมทั้งระมัดระวังการปนเปื้อนจากเศษจุกยางที่หลุดร่วงลงในน้ำยาจากการใช้ขนาดของเข็มฉีดยาที่ไม่เหมาะสมและใช้เข็มแทรงซ้ำหลายครั้ง หลังจากการใช้วัคซีนครั้งแรกแล้วควรใช้วัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และใช้ภายใน 6 ชั่วโมง (เมื่อเก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 2 - 25 องศาเซลเซียส) และให้ทิ้งวัคซีนส่วนที่ไม่ได้ใช้ไป
